วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2559

8.แนวความคิดตามทฤษฎีบุคลิกภาพ ของ Erich Fromn

ทฤษฎีบุคลิกภาพของฟรอมม์ อิริค ฟรอมม์ (Erich Fromm)



แนวคิดทางบุคลิกภาพ
อีริค  ฟรอมม์ (Erich  Fromm) เกิดที่เมืองฟรังก์เฟิร์ต เยอรมัน เมื่อ ค.ศ.1900 อีริค  ฟรอมม์ เป็นนักทฤษฏีบุคลิกภาพที่มีพื้นฐานการศึกษาทางสังคมวิทยาและจิตวิทยาแล้วทำงานเป็นอาจารย์   จากพื้นฐานการศึกษาอย่างกว้างขว้างทางประวัติศาสตร์  สังคมวิทยา วรรณคดีและปรัชญา เขาได้ทุ่มเทความสนใจเพื่ออธิบายความเห็นว่า  โครงสร้างของสังคมใดๆย่อมกล่อมเกลาบุคลิกภาพของสมาชิกให้เข้ากันได้กับค่านิยมส่วนรวมของสังคมนั้นๆ  หนังสือของฟรอมม์ได้รับการต้อนรับอย่างแพร่หลายจากนักอ่านทั่วโลก  นอกจากผู้ศึกษาสาขาจิตวิทยา  จิตแพทย์ สังคมวิทยา ปรัชญา และศาสนา ยังรวมทั้งผู้อ่านที่สนใจความรู้ทั่วๆไปด้วย
แนวคิดที่สำคัญ
แนวคิดของฟรอมม์สะท้อนให้เห็นว่าได้รับอิทธิพลจากความคิดของคาร์ล  มาร์กซ์เป็นอย่างมาก ฟรอมม์เปรียบเทียบความคิดของฟรอยด์กับมาร์กซ์และแสดงความชื่นชมความคิดของมาร์กซ์มากกว่าความคิดของฟรอยด์ จนฟรอมม์ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นนักทฤษฎีบุคลิกภาพแบบมาร์กซ์
แนวคิดที่สำคัญบางประการมีดังนี้
ความอ้างว้างเดียวดาย
เรื่องนี้เป็นสาระที่ฟรอมม์อธิบายมาก  เขาเชื่อว่ามนุษย์ยุคปัจจุบันต้องเผชิญกับความอ้างว้างเดียวดายด้วยสาเหตุหลายประการเช่น
     1. การที่มนุษย์มีเหตุผลและจินตนาการต่างๆทำให้มนุษย์มีวิวัฒนาการทางอารยธรรมเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็แยกตัวเหินห่างจากธรรมชาติ จากสัตว์โลกพวกอื่นๆและจากบุคคลอื่นๆ
     2. มนุษย์แสวงหาอิสระเสรีทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนา เมื่อได้มาแล้วก็จำต้องแลกเปลี่ยนด้วยความอ้างว้าง  ตัวอย่างเช่น เด็กวัยรุ่นที่เป็นอิสระพ้นจากความดูแลพ่อแม่ผู้ปกครอง จะพบว่าตัวเองเผชิญความว้าเหว่
     3.พัฒนาการทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ในวัตถุใช้สอยประจำวัน เช่นเครื่องมือเพื่อความบันเทิง เครื่องทุ่นแรงในการทำงาน  ทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อยลง เมื่อต้องติดต่อพูดจาก็มีท่าทีห่างเหินไว้ตัว
ฟรอมม์เสนอ  ทางแก้ความอ้างว้าง 2 ประการคือ
   1.สร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนมนุษย์บนพื้นฐานความรักสร้างสรรค์ ( productive Love ) ซึ่งได้แก่
- ความเอื้ออาทรต่อกัน
- ความรับผิดชอบต่อกันและกัน
- ความนับถือซึ่งกันและกัน
- ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
   2.ยอมตนอ่อนน้อมและทำตัวคล้อยตามสังคม
ฟรอมม์มีความเห็นว่ามนุษย์เราใช้เสรีภาพสร้างสังคมให้ดีขึ้นได้ตามข้อเสนอข้อแรก ส่วนการแก้ไขความอ้างว้างด้วยการทำตัวคล้อยตามสังคมตามข้อเสนอข้อหลังเขาเห็นว่าเป็นการเข้าสู่ความเป็นทาสรูปแบบใหม่นั่นเอง ในหนังสือ Escape from Freedom ที่เขาเขียนในปี1941 ขณะลัทธินาซีกำลังรุ่งโรจน์ เขาชี้ให้เห็นว่าลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นถูกใจคนหมู่มากเพราะมันเสนอจะให้ความมั่นคง (แก่ผู้รู้สึกอ้างว้าง)ความต้องการ
ฟรอมม์กล่าวว่ามนุษย์มีความต้องการ 5 ประการ คือ
     1. ความต้องการมีสัมพันธภาพ
                เนื่องจากมนุษย์พบกับความอ้างว้างเดียวดายตามเหตุที่ได้กล่าวมาจึงต้องแก้ไขด้วยการสร้างสัมพันธภาพกับคนอื่นๆ วิธีที่ดีงามต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความรักแบบสร้างสรรค์(ความเอื้ออาทรต่อกัน/ความรับผิดชอบต่อกันและกัน/ความนับถือซึ่งกันและกัน/ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
     2. ความต้องการสร้างสรรค์
เนื่องจากมนุษย์มีความสามารถทางสติปัญญาและอารมณ์สูง จึงมีความต้องการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมของชีวิตแตกต่างกับสัตว์โลกชั้นต่ำ  หากผู้ใดไม่มีความต้องการประเภทนี้ก็มักจะเป็นนักทำลาย เป็นอันตรายต่อผู้อื่นและสังคม
     3. ความต้องการมีสังกัด
คือความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว/ของสังคม/ของโลกความต้องการประเภทนี้ที่น่าพึงพอใจและถูกต้องคือการมีไมตรีจิตกับเพื่อนมนุษย์โดยทั่วไป
     4. ความต้องการมีอัตลักษณ์แห่งตน
คือความต้องการจะเป็นตัวของตัวเอง ความต้องการที่จะรู้จักว่าตัวเองเป็นใคร
     5. ความต้องการมีหลักยึดเหนี่ยว
คือความต้องการที่จะมีหลักสำหรับอ้างอิงความถูกต้องในการกระทำของตน เช่น คำกล่าวอ้างว่า ฉันทำอย่างนี้เพราะหัวหน้าสั่งให้ทำ หรือฉันต้องมีรถยนต์เพราะไปทำธุระสะดวกขึ้น ข้ออ้างเหล่านี้อาจสมเหตุสมผลหรือไม่ก็ได้

ความขัดแย้ง
มนุษย์ทุกเพศทุกวัยในสังคม  ต่างมีความขัดแย้งในตนเองเช่น ความขัดแย้งระหว่างความรู้สึกอ้างว้างและความรู้สึกมีอิสระเสรีความเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติกับความห่างเหินจากธรรมชาติ ความเป็นสัตว์โลก (คือความต้องการทางชีวภาพล้วนๆไร้กฎเกณฑ์) กับความเป็นมนุษย์ (ความมีสำนึกรู้-การใช้เหตุผล-การมีจินตนาการ-ความนิ่มนวล-ความรักใคร่ใยดี ฯลฯ)

อิทธิพลของสังคม
ฟรอมม์เป็นนักสังคมศาสตร์ แต่ได้รับการอบรมด้านจิตวิเคราะห์ร่วมด้วย  เนื่องจากเขาเคยอพยพจากยุโรปเข้ามาสู่อเมริกาในช่วงเวลาหนึ่งได้เห็นความแตกต่างระหว่างสังคมยุโรปกับสังคมอเมริกันทำให้ฟรอมม์ยิ่งมีความเชื่อมั่นว่า สังคมมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างสูง ประสบการณ์นี้และความรู้ด้านสังคมศาสตร์ ทำให้เขาอธิบายลักษณะสังคมแบบต่างๆที่มีผลต่อการวางรูปแบบพฤติกรรมมนุษย์ในสังคมแบบนั้นๆ
สังคมแห่งการวางอำนาจ (Authoritarian)
                เนื่องจากมนุษย์กลัวความว้าเหว่ที่จะต้องเผชิญโลกอยู่อย่างโดดเดี่ยว จำต้องแลกความเป็นอิสระของตนเองกับการได้ถูกนับเข้าในหมู่คณะและการตามผู้นำอย่างไม่ต้องคิด  จึงจำเป็นต้องยอมอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้มีอำนาจ
ส่วนผู้มีอำนาจนั้นก็ถือโอกาสวางกฎเกณฑ์ไว้ให้คนทั้งหลายปฏิบัติตาม ใครฝ่าฝืนเป็นผิด  ถ้าเป็นทางบ้านเมืองก็ได้รับโทษหนัก  ถ้าเป็นทางศาสนาก็เป็นบาปมหันต์  มีกฎตายตัวอยู่ว่าต้องเชื่อผู้นำ ไม่ว่าผู้นำจะผิดหรือถูกก็ตาม    ทั้งนี้ย่อมขัดกับหลักการรักตัวเองซึ่งมีอยู่ในมนุษย์ทุกคนและขัดกับหลักการความรับผิดชอบ ซึ่งมนุษย์มีต่อความก้าวหน้าของมนุษยชาติ    ฟรอมม์เห็นว่าความรักตนเองกับความรักผู้อื่นไม่แตกต่างกันเลย ผู้ที่รักตนเองเท่านั้นจึงจะรู้จักรักคนอื่นได้   แต่ในสังคมแห่งการวางอำนาจทำให้ยากที่คนเราจะรักนับถือตนเองได้เพราะแม้แต่ตนเองก็ขาดความเป็นอิสระเสรี
สังคมแห่งการผลิตผล(Productivity)
ในหนังสือ Man for  Himself  ฟรอมม์ชี้ให้เห็นว่าความมุ่งหมายของมนุษย์คือ การมีชีวิตอยู่อย่างเป็นประโยชน์ โดยมีการผลิตผลแก่เพื่อนร่วมโลก   ทัศนคติในทางผลิตผลนี้ก็เกิดจากการรักตนเอง  การที่เรามีความรักตนเองทำให้เรารักผู้อื่นเป็น  ความรักทำให้มนุษย์มีความเอื้ออาทร  มีความรับผิดชอบต่อผู้อื่นตามสิทธิที่เขาควรได้ นั่นคือสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์นั่นเอง
ผู้ที่อยู่ในสังคมแห่งการผลิตผล ย่อมมีบุคลิกภาพอันเป็นอุดมการณ์ที่มนุษย์ประสงค์จะมี   แต่จะมีได้มากเพียงใดนั้นก็สุดแต่ความตั้งใจมุ่งมั่นของมนุษย์  มนุษย์ไม่นิยมการอยู่อย่างเปล่าประโยชน์  บุคคลผู้มิได้สร้างสรรค์สิ่งใดให้กับสังคมให้กับโลกเลยนั้นแม้จะโชคดีเกิดมาบนกองเงินกองทอง  แต่ไร้ความสุขที่แท้จริงแม้ภายนอกจะดูเบิกบานแต่ส่วนลึกในจิตใจหามีความพออกพอใจไม่ ยิ่งตักตวงเอาความสุขเท่าไรก็ยิ่งรู้สึกว่างเปล่า  บุคคลที่รู้ตัวว่าไม่ได้เกิดมาเพื่อทำประโยชน์อะไรเลยชีวิตจะเต็มไปด้วยความหวาดกังวล  กลัวความแก่และความตายอย่างถึงขนาด   ส่วนผู้ที่อิ่มใจเพราะได้ทำประโยชน์ตามฐานานุรูปของตนย่อมสามารถเผชิญกับความแก่ความตายอย่างองอาจ ถือว่าความแก่เป็นเรื่องธรรมดา เพราะเห็นอย่างอื่นสำคัญกว่าความงามฉาบฉวยแห่งร่างกาย ถือเสียว่าตนเองได้ทำสิ่งที่ควรทำมาแล้วย่อมนอนตายตาหลับ
สังคมแห่งการเอาเปรียบ(Receptive)
ได้แก่สังคมที่มีบุคคลกลุ่มหนึ่งตักตวงเอาประโยชน์จากผู้อื่น เช่นลัทธิเจ้าขุนมูลนาย หรือลักษณะนายกับทาส  ผู้ใดอยู่ในฐานะผู้น้อย ยอมรับว่าตนเป็นไพร่พลหรือข้าทาสก็ยอมก้มหน้าแบกภาระซึ่งผู้เป็นนายบัญชาลงมาเพื่อแลกกับผลตอบแทนคือการคุ้มครองป้องกันจากเจ้าขุนมูลนาย  ผู้น้อยในสังคมประเภทนี้ตรงกับ Oral passive ของฟรอยด์และพวกยอมของฮอร์นาย
ผู้ที่อยู่ในสังคมแห่งการเอาเปรียบย่อมกลายเป็นผู้อาศัยผู้อื่นตลอดกาล  ต้องอาศัยพ่อแม่เพื่อนฝูง นายผู้มีอำนาจหรือเทพเจ้าอยู่ทุกลมหายใจหากขาดสิ่งนี้ก็ขาดที่พึ่ง จะรู้สึกอ้างว้างสุดพรรณนา     ผู้ที่อยู่ในสังคมประเภทนี้จะต้องยอมอ่อนน้อมยอมตนต่อผู้มีอำนาจ เพราะไม่กล้าที่จะเสี่ยงออกไปเป็นอิสระ  จำเป็นต้องหาที่เกาะ  ด้วยเหตุเป็นสังคมที่ชอบออกแรงเพื่อให้ได้อะไรมา จึงสอนให้คนเรียนลัดหรือรวยทางลัด
สังคมแห่งการขูดรีด(Exploitative)
ได้แก่สังคมที่มีการกดขี่ข่มเหงทำนาบนหลังคน แบบนายทุนในศตวรรษที่18-19 กล่าวคือนายทุนเห็นแก่ได้ไม่ยอมจัดบริการหรือสวัสดิการให้แก่คนงานที่ทำประโยชน์ให้แก่ตนเลย    บุคคลในสังคมเช่นนี้ย่อมเต็มไปด้วยการชิงดีหักล้างกัน  จะเป็นด้วยไหวพริบหรือเอากันซึ่งๆหน้า    ตรงกับประเภท Oral-aggressive ของฟรอยด์
ผู้อยู่ในสังคมแห่งการขูดรีด ย่อมเอาเปรียบผู้อื่นด้วยการตักตวงผลประโยชน์  แต่ต้องได้อะไรมาด้วยการต่อสู้ชิงไหวชิงพริบ  การได้อะไรฟรีๆคนพวกนี้ไม่นับถือ เพราะเห็นว่าของฟรีนั้นแสดงว่าผู้อื่นไม่ต้องการแล้ว ไม่มีค่าสู้ได้มาด้วยเหลี่ยมคูซึ่งตนถือว่าดีกว่าไม่ได้   ถ้ามีการแจกของฟรีบุคคลประเภทเอาเปรียบจะรีบไปรับแจกแต่บุคคลประเภทขูดรีดจะไม่แยแส แต่ถ้าแย่งมาหรือขโมยมาก็จะภูมิใจมาก  ถ้าบุคคลประเภทนี้มีคู่รักก็มิใช่เพราะเห็นคุณค่าของคนรักนั้นโดยตรงแต่เป็นเพราะคนรักนั้นเป็นที่หมายปองของบุคคลอื่นๆต่างหาก
 สังคมประเภทสะสม(Hoarding)
บุคคลในสังคมประเภทนี้มักหัวโบราณ ได้แก่พวกเศรษฐี ซึ่งถือว่าการมีที่ดิน มีเงินในธนาคารเป็นหลักทรัพย์นั้นถือว่าพอใจแล้ว ยึดถือการเก็บหอมรอมริบ การตระหนี่เหนียวแน่นเป็นสำคัญ     คนในสังคมประเภทนี้ไม่ชอบความคิดใหม่ๆ และมักชอบอิจฉาริษยา  ไม่ชอบให้ใครอื่นเข้ามายุ่งในแวดวงของตน
บุคคลที่อยู่ในสังคมประเภทสะสม ย่อมมีความอบอุ่นใจที่ได้เก็บหอมรอมริบ  ถ้าต้องใช้จ่ายอะไรสักอย่างหนึ่งก็จะรู้สึกว่าเป็นการสูญเสียอย่างร้ายแรง ถือความเป็นเจ้าของเป็นเรื่องสำคัญ แม้แต่คู่ครองก็ถือว่าเป็นสมบัติชิ้นหนึ่งซึ่งตนภูมิใจที่ได้มาครอบครอง  อีกฝ่ายหนึ่งจะรู้สึกอย่างไรก็ไม่สำคัญ
สังคมประเภทการตลาด(Marketing)
เพิ่งจะเกิดขึ้นใหม่ตามความแพร่หลายของลัทธินายทุนสมัยใหม่ เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์มีน้อยลงทุกที  ชีวิตทั้งหลายมีอยู่เพื่อการแลกเปลี่ยนมากกว่าการสร้างสรรค์ผลิตผล   ปรากฏว่าตราและการโฆษณามีความสำคัญยิ่งกว่าผลิตผล  บุคคลกลายเป็นที่สำหรับแลกเปลี่ยน แม้จะอยู่ท่ามกลางผู้คนก็เหมือนกับอยู่โดดเดี่ยวอ้างว้าง   ดังที่ฟรอมม์กล่าวไว้ในหนังสือ The Lonely Crowd
ผู้ที่อยู่ในสังคมประเภทการตลาด เป็นอันว่าในสังคมประเภทนี้  สัมพันธภาพระหว่างบุคคลเป็นอันสิ้นสุดลง สังคมมีแนวโน้มไปในทางวัตถุนิยมมากเท่าใดยิ่งผลิตบุคคลประเภทนี้มากขึ้นเท่านั้น    บุคลิกภาพประเภทการตลาดเกิดจากสังคมที่เรียกตนเองว่าเป็นผู้ก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าแบบนี้ทำให้มนุษย์ห่างเหินจากเพื่อนมนุษย์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นับว่ามนุษย์ต้องสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองให้กับสังคมประเภทนี้เหลือแต่ความคิดว่าหว่านพืชต้องหวังผลหรือตัวใครตัวมัน

องค์ประกอบในการสร้างบุคลิกภาพ
ฟรอมม์เห็นว่าบ้านมีอิทธิพลที่สำคัญแก่บุคลิกภาพ  ฟรอมม์ตั้งข้อสังเกตว่าการเลี้ยงดูเด็กสมัยใหม่นี้เปลี่ยนแปลงไปมาก สมัยนี้พ่อแม่ไม่มั่นใจว่าทำอย่างไรจะถูกเลยปล่อยให้เด็กรับผิดชอบเอาเอง แต่ความรับผิดชอบก็คือภาระอย่างหนึ่ง ถ้าหนักเกินกำลังเด็กก็แบกไม่ไหว
พ่อแม่สมัยนี้มีระดับการครองชีพดีกว่าสมัยก่อน เห็นว่าคนรุ่นตนลำบากมาแล้วไม่อยากให้ลูกต้องลำบากเหมือนตนจึงหาความสบายมามอบให้ ทำให้ลูกกลายเป็นคนประเภทเอาเปรียบคือได้อะไรมาง่ายๆจึงไม่มีความมานะพยายาม ครั้นลูกทำอะไรไม่สำเร็จพ่อแม่ก็ผิดหวัง ส่วนลูกก็ไม่มีความสุขนักเพราะวิสัยมนุษย์นั้นย่อมแสวงหาความสำเร็จ แต่การเลี้ยงดูนำไปสู่การเลี้ยงไม่รู้จักโตเลยกลายเป็นวงจรร้ายมิอาจสร้างสังคมที่ดีงามได้  บุคลิกภาพอันเป็นอุดมการณ์ของมนุษย์เกิดขึ้นจากสัมพันธภาพแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ร่วมทุกข์ร่วมสุข มิใช่ว่าให้ฝ่ายหนึ่งแบกภาระแต่อีกฝ่ายไม่รับผิดชอบ  ฟรอมม์กล่าวว่าสัมพันธภาพแบบร่วมทุกข์ร่วมสุขจะมีขึ้นมาได้ก็ด้วยความรักอันบริสุทธิ์ใจ
                ฟรอมม์มีความเชื่อมั่นว่ามนุษย์มีความใฝ่ดีและสามารถควบคุมตัวเองได้แต่จากหนังสือเล่มหลังสุดชื่อ Anatomy of Humam Destructiveness ได้แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยในพลังแห่งจิตไร้สำนึกซึ่งถือว่าเป็นตัวควบคุมพฤติกรรมมนุษย์จะหนักไปทางความรุนแรง  อย่างไรก็ตามฟรอมม์ไม่เห็นด้วยกับนักชีววิทยาฝ่ายสัญชาตญาณอันมี Konrad Lorenz เป็นต้นซึ่งถือเอาผลของการศึกษาสัตว์มาเทียบเคียงกับมนุษย์ และเห็นว่าความรุนแรงเป็นนิสัยอันเป็นมรดกที่สืบเนื่องมาจากธรรมชาติของสัตว์ที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน   และฟรอมม์ก็ไม่เห็นด้วยกับนักพฤติกรรมศาสตร์เช่น B.F. Skinner ที่ถือว่านิสัยรุนแรงของมนุษย์เกิดจากการวางเงื่อนไขที่เลวและอาจแก้ไขได้ด้วยการวางเงื่อนไขกลับให้พฤติกรรมมนุษย์ในอนาคตไปสู่ความสงบ  ฟรอมม์เห็นว่าการจับเอามนุษย์มาวางเงื่อนไขเอาตามใจชอบนั้นขัดกับพื้นฐานความเป็นมนุษย์ ฟรอมม์เชื่อมั่นว่าสังคมที่เราอยู่ต่างหากที่จะสร้างนิสัยรุนแรงหรือสงบ ดังนั้นจึงควรเน้นที่หน้าที่ของสังคม
ดูเหมือนว่าฟรอมม์จะเป็นนักจิตวิทยาคนเดียว   ที่ได้อธิบายรูปแบบของสังคมประเภทต่างๆที่หล่อหลอมบุคลิกภาพของคนในสังคมนั้นให้เป็นไปอย่างนี้หรืออย่างนั้น  ซึ่งก็ไม่มีผู้ใดวิจารณ์ค้านแนวคิดเรื่องอิทธิพลของลักษณะทางสังคมที่มีต่อบุคลิกภาพของมนุษย์ แต่ก็มีนักวิจารณ์บางท่านกล่าวว่าฟรอมม์เห็นสังคมมนุษย์สวยงามเกินไป เพราะแท้จริงแล้วมนุษย์ไม่สามารถจัดการสังคมให้ดีงามและเหมาะสมสำหรับคนทุกคน  เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนไม่ได้ดีงามเหมือนๆกันทุกคน สมรรถภาพของแต่ละคนก็แตกต่างกัน

ทฤษฏีที่น่าสนใจของฟรอมม์ มีดังนี้
1.การเป็นผู้วางอำนาจ  ฟรอมม์สนใจในอิทธิพลของการเป็นผู้วางอำนาจของบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดที่มีต่อสังคม  เขาเขียนไว้ในหนังสือ  เพราะเหตุที่คนเรากลัวความหว้าเหว่ที่ต้องผจญอยู่แต่ผู้เดียว  แม้ว่าต้องแลกกับความเป็นตัวของตัวเอง  ซึ่งปรารถนามาแต่ต้น  ก็ทำให้คนเราจำยอมอ่อนน้อมต่อผู้วางอำนาจ  ยอมตามผู้นำ  ฟรอมม์สังเกตเห็นว่าภายใต้ลัทธิวางอำนาจนี้  ผู้ใดผ่าฝืนถือว่าเป็นบาปอย่างมหันต์  เพราะมีกฎตายตัวอยู่ว่าต้องเชื่อผู้นำ  แม้ว่าผู้นำจะผิดก็ไม่มีทางที่จะเถียงได้  ทั้งนี้ย่อมขัดกับหนักความรักของตัวเอง  และความรับผิดชอบที่คนเรามีต่อความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ชาติ
2.การผลิตผล ฟรอมม์มีความเห็นว่ากิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะเจริญสัมพันธภาพกับโลกแห่งผู้คนและสิ่งต่างๆและกับตัวเองได้ดีสัมพันธภาพนี้อาจเป็นในทำนองผลิตผลหรือทำลาย ฟรอมม์ได้เน้นไว้ในหนังสือ Man for Himself ว่าความมุ่งหมายและหลักศีลธรรมของมนุษย์ก็คือ การมีชีวิตอยู่อย่างมีประโยชน์ ไม่อยู่เปล่าโดยปราศจากผลิตผลให้เป็นที่อาศัยของเพื่อนร่วมโลก ฟรอมม์ชี้ให้เห็นว่าบุคคลที่ทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์ที่แท้จริงนั้นมิใช่ประเภทที่วิ่งวุ่นวาย เจ้ากี้เจ้าการ ในการจัดงานกุศลง่ายๆ สาระแนไปเสียทุกเรื่อง หรืออุทิศเวลาให้แก่สังคมเสียจนไม่เป็นอันกินอันนอน อันที่จริงบุคคลประเภทเจ้ากี้เจ้าการนั้นก็อยู่ในประเภทโรคประสาทไม่แพ้พวกขี้เกียจเลย บุคคลที่บำเพ็ญประโยชน์อันที่จริงแล้วย่อมแตกต่างจากพวกวุ่นวายและพวกขี้เกียจเพราะเขามีความสามารถที่จะมองเห็นสถานการณ์ที่แท้จริงและยอมรับนับถือผู้คนที่ตอยูในสถานการณ์นั้น ตามฐานะที่แท้จริงของเขาบุคคลที่มีความสามารถเช่นนี้ย่อมรู้จักมองโลกเป็นการไม่เข้าใครออกใครและขณะเดียวกันก็รู้จัก เอาใจเขามาใส่ใจเราได้เหมือนกันความสมารถวางตนเป็นกลาง และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นนี้ถ้าถือแต่อย่างใดอย่างเดียว จะทำให้เราไม่สามารถมองเห็นสถานการณ์ที่แท้จริงได้ จนเราต้องมีทั้งสองอย่าง จึงจะสามารถเกิดเจตคติในทางผลิตผลขึ้นได้ อันว่าเจตคติในทางผลิตผลนี้ย่อมเกี่ยวกับความรักด้วย ตามปกติธรรมดามนุษย์ผู้ต้องการความเป็นตัวของตัวเองย่อมต้องมีความรักตนเองเสียก่อน
3.บุคลิกภาพประเภทต่างๆ  ฟรอมม์มีปรัชญาว่า  ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงหรือรือบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่โลกตลอดกาล  จนไม่คิดถึงชีวิตชีวา  บุคคลหนึ่งๆบุคคลเดียวกันนั้น  อาจจะเป็นได้ทั้งผู้บำเพ็ญประโยชน์และผู้ไร้ประโยชน์  หากแต่มีความต่างกันอยู่ตรงที่ความหนักเบาของบุคลิกภาพทั้ง 2 ประเภทนี้  เช่น  บางคนชอบการบำเพ็ญประโยชน์เป็นชีวิตจิตใจ  ชีวิตอยู่ด้วยการบำเพ็ญประโยชน์เป็นส่วนใหญ่แต่บางคนอยู่เฉย  อยู่เปล่าๆ  เป็นส่วนมาก  บางครั้งอุปนิสัยบางอย่างของคนเราอาจจะดูไม่ออกว่าอยู่ในลักษณะบำเพ็ญประโยชน์หรือไร้ประโยชน์



อ้างอิง 

พรรณิดา  ผุสดี. แอริค ฟรอมม์.(2555).(ออนไลน์).สืบค้นจาก :  http://www.oknation.net/blog/pannida/2012/11/12/entry-6 (Jan 28, 2016)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น