ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychodynamic Theory)
ของฟรอยด์ ซิกมันต์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)
ซิกมันต์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เป็นจิตแพทย์ชาวเวียนนา ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของจิตวิเคราะห์ เป็นทฤษฎีแรกที่ได้อธิบายการทำงานของจิตใจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมมนุษย์ ฟรอยด์เชื่อว่าพฤติกรรมทุกพฤติกรรมมีความหมาย ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่จะมีจิตส่วนหนึ่งดำเนินการและสั่งการให้เกิดรูปแบบพฤติกรรมนั้นๆ และสิ่งที่มีอิทธิพลในการแสดงพฤติกรรม ได้แก่ ประสบการณ์ในวัยต้นชีวิต ซึ่งฟรอยด์เชื่อว่า ประสบการณ์เหล่านี้จะฝังแน่นอยู่ในจิตใจ บุคคลอาจไม่รู้ตัว แต่ประสบการณ์ดังกล่าวจะมีส่วนทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมออกมาภายหลัง
การทำความเข้าใจมนุษย์และพฤติกรรมของมนุษย์ตามแนวคิดจิตวิเคราะห์เกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจแนวคิดหลัก ได้แก่ ระดับของจิตใจ โครงสร้างของจิตใจ และพัฒนาการของบุคลิกภาพ
1. ระดับของจิตใจ (Level of the Mind)
ระดับของจิตใจ ฟรอยด์อธิบายว่า หากจะพิจารณาจิตใจของมนุษย์ตามความรู้สึกตัวแล้ว จะแบ่งระดับความรู้สึกของจิตใจออกเป็น 3 ระดับ คือ
1.1 จิตสำนึก (The conscious level) เป็นส่วนของจิตใจที่เจ้าตัวรู้สึกและตระหนักในตนเองอยู่ พฤติกรรมที่แสดงออกอยู่ภายใต้การควบคุมด้วยสติปัญญา ความรู้ และการพิจารณาให้เหมาะสมกับสิ่งที่ถูกต้องและสังคมยอมรับ
1.2 จิตกึ่งสำนึก (The subconscious level) เป็นระดับของจิตใจที่อยู่ในชั้นลึกลงไปกว่าจิตสำนึก คือเจ้าตัวไม่ได้ตระหนักรู้ตลอดเวลา หากแต่ต้องใช้เวลาคิดหรือระลึกถึงชั่วครู่ และประสบการณ์ต่างๆจะถูกดึงมาสู่จิตสำนึก จิตใจส่วนนี้จะช่วยขจัดข้อมูลที่ไม่จำเป็นออกจากความรู้สึกของบุคคลและเก็บไว้แต่ในส่วนที่มีความหมายต่อตนเอง จิตใจส่วนนี้ดำเนินการอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน
1.3 จิตใต้สำนึก (Unconscious level) เป็นระดับของจิตใจในชั้นลึกที่เจ้าตัวเก็บไว้ในส่วนลึก อันประกอบด้วยความต้องการตามสัญชาตญาณต่างๆซึ่งไม่อาจแสดงได้อย่างเปิดเผยและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนของพัฒนาการในชีวิตที่มนุษย์เก็บสะสมไว้ โดยเฉพาะที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ฟรอยด์กล่าวว่า มนุษย์จะเก็บความรู้สึกทางลบไว้ในส่วนจิตใต้สำนึก และจะแสดงออกในบางโอกาส ซึ่งเจ้าตัวไม่ได้ควบคุมและไม่รู้สึกตัว ฟรอยด์เชื่อว่า การทำความเข้าใจมนุษย์ต้องทำตามความเข้าใจจิตใจส่วนนี้ด้วย
2. โครงสร้างจิตใจ (Structure of Mind)
โครงสร้างของจิตใจ ฟรอยด์อธิบายว่า จิตใจของมนุษย์ ประกอบด้วยโครงสร้างหลักที่เป็นองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วน คือ
2.1 อิด (Id) คือ สัญชาตญาณ หมายถึง ส่วนของจิตที่ยังไม่ได้ขัดเกลา เป็นส่วนดั้งเดิมของมนุษย์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และเป็นแรงขับของสัญชาตญาณพื้นฐาน มุ่งให้ได้รับผลประโยชน์ต่อตนเองหรือความพึงพอใจและความสุขของตนเองเป็นหลัก (Pleasure principle) กระบวนการทำงานของจิตส่วนนี้ไม่ได้นำเหตุผลและความเป็นจริงอื่นๆมาเกี่ยวข้อง แต่เป็นการตอบสนองความต้องการตามสัญชาตญาณ ฟรอยด์เรียกกระบวนการทำงานของจิตส่วนนี้ว่า เป็น กระบวนการคิดแบบปฐมภูมิ (Primary thinking process) ได้กลั่นกรองหรือขัดเกลาให้เหมาะสม
2.2 อีโก้ (Ego) เรียกอีกอย่างว่า ตัวตนแห่งบุคคล หรือ Self เป็นส่วนของจิตใจที่การดำเนินโดยอาศัยเหตุและผล การเกิดของส่วนนี้จะทำให้Id ถูกผลักดันลงไปสู่จิตใจระดับจิตใต้สำนึกและเป็นตัวประสานงานระหว่างความต้องการตามสัญชาตญาณกับโลกภายนอกตามหลักแห่งความเป็นจริง(Reality Principle) การทำงานของจิตส่วนนี้อยู่ในระดับที่บุคคลรู้ตัว มีการพินิจพิจารณากลั่นกรอง เพื่อให้การตอบสนองตามความต้องการแรงขับของId อยู่ในขอบเขตของความเหมาะสมตามมาตรฐานของสังคม จึงเรียกกระบวนการคิดลักษณะนี้ว่า กระบวนการคิดแบบทุติยภูมิ (Secondary thinking process)
2.3 ซุปเปอร์อีโก้ (Super Ego) หรือ มโนธรรม เป็นส่วนของจิตใจที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ถูกผิดตามศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
2.3.1 มโนธรรม (Conscience) เกิดจากการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู เป็นการสอนทั้งทางตรงและทางอ้อมให้แก่เด็ก เช่น สอนว่าอะไรไม่ควรทำ ถ้าทำผิดจะถูกลงโทษ หรือ การที่การที่เด็กได้เห็นการกระทำของพ่อแม่ ผู้ใกล้ชิด และจากครอบครัวอยู่เสมอ ก็เป็นการปลูกฝังโดยเด็กได้รับประสบการณ์จากสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเรียกว่า เป็นการสะสมในสิ่งดีงามติดตัวมาตลอด เมื่อโตขึ้นถ้าทำอะไรขัดกับมโนธรรมจะก่อให้เกิดความสำนึกผิด (guilt feeling)
2.3.2 อุดมคติแห่งตน (ego-ideal) เกิดจากการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่และผู้อื่นเช่นกัน เป็นการสอนว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ เมื่อโตขึ้นถ้าทำตามอุดมคติแห่งตนจะก่อให้เกิดความรู้สึกอิ่มใจและภาคภูมิใจ ส่วนสำคัญของ super Ego เกิดขึ้นในส่วนปลายของระยะปมออดิพุส เมื่อเด็กอายุประมาณ 5-6 ปี เด็กจะพยายามรับเอามาตรฐานทางศีลธรรมและอุดมคติจากพ่อแม่เข้ามาไว้ในตน พยายามซึมซับสิ่งเหล่านี้จนกลายเป็นคุณธรรมของตนเอง
โครงสร้างจิตใจ 3 ระบบนี้มีความสัมพันธ์กัน ถ้าทำงานสัมพันธ์กันดีการแสดงออกหรือบุคลิกภาพก็เหมาะสมกับตน แต่ถ้าโครงสร้างทั้ง 3 ระบบทำหน้าที่ขัดแย้งกับบุคคลก็จะมีพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพที่มาราบรื่นผิดปกติหรือไม่เหมาะสม
3. พัฒนาการของบุคลิกภาพ (Psychosexual development)
ฟรอยด์เชื่อว่า พัฒนาการและประสบการณ์ในวัยทารกและวัยเด็กเป็นรากฐานของบุคลิกภาพของบุคคลวัยผู้ใหญ่และมีพลังผลักดันจากทางจิตใจซึ่งสัมพันธ์กับความพึงพอใจทางเพศ ซึ่งพัฒนามาเป็น 5 ระยะ ดังนี้
3.1 ระยะของความพอใจทางปาก (Oral Stage) เริ่มตั้งแต่แรกเกิดถึงประมาณ 1 ปี หมายถึง ความสุขและความพอใจของเด็กจะอยู่ที่ได้รับการตอบสนองทางปาก เช่น การดูดนม การสัมผัสด้วยปาก หากเด็กได้รับการตอบสนองเต็มที่ เด็กก็จะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพเหมาะสม หากตรงกันข้ามเด็กจะเกิดการชะงัก ถดถอย (Fixation) และมาแสดงพฤติกรรมในช่วงนี้อีกในวัยผู้ใหญ่ เช่น ชอบนินทาว่าร้าย สูบบุหรี่ กินจุบ-กินจิบ เป็นต้น
3.2 ระยะของความพอใจทางทวารหนัก (Anal Stage) ตั้งแต่อายุ 1-3 ปี หมายถึง ความพอใจอยู่ที่การขับถ่ายเมื่อมีวุฒิภาวะ ฉะนั้น การฝึกฝน ฝึกหัด การขับถ่ายอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยวิธีผ่อนปรนและประนีประนอม และให้เรียนรู้การขับถ่ายเป็นเวลาจะทำให้เด็กไม่เกิดความเครียดและสามารถพัฒนาบุคลิกภาพที่เหมาะสมได้ ตรงกันข้ามหากเด็กได้รับการลงโทษและฝึกหัดด้วยวิธีรุนแรงจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่พอใจและเก็บความรู้สึกที่ไม่ดีไว้ที่จิตไร้สำนึก และจะมีผลต่อบุคลิกภาพในเวลาต่อมา กล่าวคือ เป็นคนขี้เหนียว เจ้าระเบียบ ชอบทำร้ายให้ผู้อื่นเจ็บปวด อาจเป็นสาเหตุของโรคประสาทชนิด ยํ้าคิดยํ้าทำ (obsessive - compulsive) ได้
3.3 ระยะพึงพอใจในอวัยวะเพศ (Phallic Stage) อายุ 3-6 ขวบ หมายถึง ความสนใจของเด็กจะเปลี่ยนมาสนใจเกี่ยวกับอวัยวะเพศ มักถามว่าตนเกิดมาจากไหน ในขั้นนี้เด็กจะรักพ่อแม่ที่เป็นเพศตรงข้ามกับตน และลักษณะเช่นนี้ทำให้เด็กเลียนแบบบทบาททางเพศจากพ่อหรือแม่ที่เป็นต้นแบบ หากพ่อแม่ปฏิบัติตามบทบาทที่ดี เหมาะสมเป็นตัวแบบที่ดี เด็กก็จะเลียนแบบและพัฒนาบทบาททางเพศของตนได้อย่างดี ในระยะนี้มีปรากฏการณ์ที่สำคัญ คือ ปมออดิปุส (Oedipus complex) เป็นปรากฏการณ์ที่เด็กชายมีความรู้สึกทางเพศ รักและผูกพันแต่แม่ ขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกเกียจพ่อซึ่งเป็นผู้มาแย่งความรักจากแม่ไป ส่วนเด็กหญิงก็ทำนองเดียวกัน เด็กหญิงจะมีความรู้สึกทางเพศ รักและผูกพันกับพ่อ ขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกเกียจแม่ซึ่งเป็นผู้มาแย่งความรักจากพ่อไป ความรู้สึกเช่นนี้จะหมดไปเมื่อเด็กชายหันมาเลียนแบบพ่อได้ และสะสมบุคลิกภาพและความเป็นชายของพ่อเข้าไว้ในตนเองเพื่อให้แม่รัก เพราะรู้ว่าตนไม่สามารถเอาชนะพ่อได้และกลัวว่าพ่อจะมาตัดอวัยวะเพศของตนออกไป ส่วนเด็กหญิงก็เช่นเดียวกันหันมาเลียนแบบแม่และถ่ายทอดความเป็นหญิงจากแม่เพื่อให้พ่อรัก การสิ้นสุดของ Oedipus complex คือ จุดเริ่มต้นของการเกิด Super Ego บางคนมีบุคลิกภาพที่สืบเนื่องมาจากพัฒนาการระยะนี้ เด็กชายบางคนอาจเกิดความภาคภูมิใจ เด็กหญิงอาจรู้สึกเกลียดตัวเอง เด็กที่ติดนิสัยชอบการแข่งขันมักจะมีความกล้าหาญแบบมุทะลุ หรือ เด็กที่หวาดกลัวจะถูกตัดอวัยวะเพศติดมามักจะขี้ขลาด บุคลิกภาพบางประการ เช่น ความเรียนง่าย ความรักนวลสงวนตัว และความสำส่อน เหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็กเลียนแบบมาจากพ่อแม่ และถ้าเกิดการติดตรึง (Fixation) ในขั้นนี้ อาจก่อให้เกิดปัญหาผิดปกติทางเพศได้ เช่น รักร่วมเพศ (Homosexuality) กามตายด้าน (Impotence) ชาเย็นทางเพศ (Frigidity) เป็นต้น
3.4 ระยะความต้องการแฝง (Latency Stage) อายุ 7-14 ปี เป็นวัยเข้าโรงเรียน วัยนี้ดูภายนอกค่อนข้างเงียบสงบ หลังจากผ่านระยะ Oedipus complex มาแล้ว ความรู้สึกพอใจทางเพศจะถูกเก็บกดเอาไว้ เด็กจะเริ่มออกจากบ้านไปสังคมภายนอก เช่น สังคมในโรงเรียน เด็กจะมีกิจกรรมใหม่ๆที่เพิ่มขึ้น
3.5 ระยะขั้นวัยรุ่น (Genital Stage) อายุ 13-18 ขวบ หมายถึง เด็กหญิงจะเริ่มมีความสนใจเด็กชายและเด็กชายก็เริ่มมีความสนใจเด็กหญิงเป็นระยะที่จะมีความสัมพันธ์ระหว่างเพศอย่างแท้จริง
ฟรอยด์เชื่อว่าพัฒนาการทางบุคลิกภาพจะไม่มีอีกต่อไป เมื่อมนุษย์เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ คืออายุประมาณ 20 ปี หรือถ้ามีพัฒนาการก็จะมีน้อยมาก ขั้นของพัฒนาการที่สำคัญที่สุดในทฤษฎีนี้ก็คือ ขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3
การอธิบายสาเหตุของพฤติกรรมผิดปกติ
1. การเสียสมดุลของ Id, Ego and Super Ego
-Ego ไม่สามารถปรับสภาพให้เกิดความพอดีระหว่างความต้องการตามสัญชาตญาณ (Id) และการถูกตำหนิโดยมโนธรรม (Super Ego) ได้ จึงเกิดความขัดแย้งในจิตใจ บุคคลจึงใช้กลไกป้องกันทางจิตเป็นทางออกเพื่อแก้ปัญหา หากกลไกป้องกันทางจิตถูกนำมาใช้อย่างไม่เหมาะสมก็อาจก็อาจทำให้เกิดพยาธิภาพในจิตใจได้
2. การไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการในแต่ละขั้นตอนอย่างเหมาะสม
-ทำให้เด็กเกิดความขัดแย้ง เด็กจะใช้พลังงานส่วนหนึ่งในการขจัดความขัดแย้งทำให้พลังในการปฏิบัติกิจกรรมหลักในขั้นต่อไปเหลือน้อยลง พัฒนาการทางจิตใจหยุดชะงัก (Fixation) ที่จุดนั้น
-เมื่อบุคคลเกิดปัญหาเมื่อเวลาต่อมา ก็มีแนวโน้มที่จะใช้กลไกป้องกันทางจิตที่เคยหยุดชะงักอีก ทำให้การแสดงออกของพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับวัยและสภาพสังคม
อ้างอิง :
บทที่ 2 แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช.(ออนไลน์).สืบค้นจาก :
www.teacher.ssru.ac.th/thitavan_ho/.../2.DR_THitavan.ssru.ac.th.pdf (Jan
28, 2016)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น