วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2559

4.แนวความคิดตามทฤษฎีจิตวิทยาเชิงวิเคราะห์ ของ Carl G. Jung

ทฤษฎีจิตวิทยาเชิงวิเคราะห์ (Analytical Psychology Theory)

ของ คาร์ล จี. จุง (Carl G. Jung)



ผู้ก่อตั้งทฤษฎีนี้ได้แก่คาร์ล จี. จุง (Carl G. Jung)  นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ แนวคิดที่สำคัญ ในช่วงแรกนั้น Jung เน้นการศึกษาเรื่องจิตไร้สำนึก เช่นเดียวกับฟรอยด์แต่ต่อมา ได้ศึกษาค้นคว้าในเรื่องต่างๆ อย่างลึกซึ้งขึ้น ทำให้ Jung มีแนวความคิดแตกต่างกัน โดยมีความเชื่อว่า มนุษย์ที่เกิดมามีแนวโน้ม ที่จะรับมรดกจากบรรพบุรุษของเขา ซึ่งจะเป็นการชี้นำพฤติกรรม และกำหนดจิตสำนึก ตลอดจนการตอบสนองต่อประสบการณ์ และโลกส่วนตัว ของเขา หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า มีการก่อตัวของเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ (Racial) และจะสะสมในบุคลิกภาพที่นำไปสู่การเลือกรูปแบบของการปรับตัว และการเลือก ที่จะอยู่ในโลก ของประสบการณ์แต่ละบุคคล บุคลิกภาพแต่ละบุคคล จึงเป็นผลของการกระทำของแรงภายใน ( Inner Forces ) ที่กระทำต่อแรงภายนอก (Outer Forces) ทฤษฎีนี้เน้นเรื่องของการเริ่มต้นของบุคลิกภาพ ที่เชื้อชาติ หรือเผ่าพันธุ์ ในขณะที่ ฟรอยด์ เน้นจุดเริ่มต้นของบุคลิกภาพจากหลังกำเนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทารก


แนวความคิดทฤษฎีบุคลิกภาพของจุงนั้นจำแนกเป็นส่วนสำคัญได้ 2 ส่วน ดังนี้

     (1) โครงสร้างบุคลิกภาพ (Structure of Personality)
 บุคลิกภาพตามความหมายของจุงคือจิต (Psyche) ซึ่งประกอบด้วยระบบต่างๆ เป็นส่วนๆ มาทำงานรวมกัน ได้แก่
ก. อีโก้ จุงเชื่อว่าอีโก้เป็นศูนย์กลางแห่งบุคลิกภาพของบุคคลซึ่งอยู่ในส่วนของจิตสำนึก(conscious) ซึ่งประกอบไปด้วยความจำ ความรู้สึกนึกคิด การตัดสินใจ และการมีสติซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่บุคคลจะสามารถรับรู้เกี่ยวกับตนเองได้ตลอดเวลา จึงเท่ากับว่าอีโก้เป็นตัวกำหนดบทบาท หน้าที่ และความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละบุคคล
ข. จิตใต้สำนึกส่วนบุคคล (Personal Unconscious) ส่วนนี้จะอยู่ถัดจากอีโก้ลงไป เป็นส่วนที่ประกอบไปด้วยประสบการณ์ต่างๆที่เคยอยู่ในจิตสำนึกมาก่อนแต่ได้ถูกกดลงสู่จิตใต้สำนึก (Unconscious) ด้วยกลไกทางจิต ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการที่จะลืมประสบการณ์เหล่านั้นเพราะเป็นความเจ็บปวด เป็นทุกข์ หรือไม่พอใจเป็นต้น ต่อมาภายใต้สถานการณ์เหล่านั้น สิ่งแวดล้อมหรือ ได้รับสิ่งเร้าที่เหมาะสม ประสบการณ์เหล่านั้นอาจจะผลักดันขึ้นมาสู่จิตสำนึกที่รับรู้ได้อีกครั้งประสบการณ์ต่างๆ ภายในจิตใต้สำนึกส่วนบุคคล (Personal Unconscious) นี้ถ้าได้รับการรวบรวมให้เป็นกลุ่มหรือหมวดหมู่ของความรู้สึก (Constellation) ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว จุงเรียกการเกิดสภาวะเช่นนั้นว่าปม (Complex) ดังนั้นเท่ากับว่าจิตใต้สำนึกส่วนบุคคลจึงเป็นแหล่งรวบรวมปมของบุคคลไว้มากมาย เช่น ปมเกี่ยวกับแม่ (Mother Complex) เกิดจากการจัดกลุ่มหรือหมวดหมู่ของประสบการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับแม่ เช่น ความรู้สึก ความจำต่างๆ ที่ได้รับจากแม่จนก่อตัวขึ้นเป็นปมเมื่อพลังจากปมนี้มีมากจะกลายเป็นจุดศูนย์กลางในการควบคุมบุคลิกภาพของบุคคลนั้นให้ทำตามสิ่งที่แม่พูด แม่สั่ง แม่คิด หรือสิ่งที่เป็นความประสงค์ของแม่ แม้กระทั่งการเลือกภรรยาก็จะเลือกบุคคลซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับแม่ของตน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ต่างๆ ที่รวมกลุ่มหรือหมวดหมู่ขึ้นเป็นปมนั้นอาจกลับขึ้นมาสู่จิตสำนึกได้อีกครั้งถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่เหมาะสม
ค.จิตใต้สำนึกส่วนที่สะสมประสบการณ์ในอดีตชาติ (Collective Unconscious) จุง อธิบายว่าจิตใต้สำนึกส่วนนี้จะทำหน้าที่สะสมประสบการณ์ต่างๆ ที่ทุกคนได้รับเป็นมรดกสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ตั้งแต่เริ่มต้นมีมนุษย์เกิดขึ้นภายในโลกเป็นครั้งแรก ด้วยเหตุนี้ จุงเชื่อว่ามนุษย์ ทุกคน ทุกตระกูล ทุกเชื้อชาติ และทุกเผ่าพันธุ์ต่างก็มีประสบการณ์ในจิตใต้สำนึกส่วนที่สะสม ประสบการณ์ในอดีตชาติที่เป็นต้นฉบับเดียวกันทั้งสิ้น โดยบันทึกเป็นข้อมูลอยู่ในสมองแล้วถ่ายทอดกันมาแต่ละรุ่นยาวนานตลอดจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ในการแสดงพฤติกรรมบางอย่างของมนุษย์ทั่วโลก จึงอธิบายจากต้นฉบับที่ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่อดีตชาติได้เหมือนกันหมด เช่น ทำไมเด็กทารกจึงเกิดมากับความพร้อมที่จะรับรู้และสร้างสัมพันธภาพอันดีกับแม่เป็นอันดับแรก ถ้าอธิบายตามแนวคิดของจุงนั้นเป็นเพราะว่าเด็กได้รับประสบการณ์ความสัมพันธ์กับแม่มาตั้งแต่อดีตชาติภายใต้จิตใต้สำนึกส่วนที่สะสมประสบการณ์ใน อดีตชาติ จึงทำให้มีพื้นฐานเช่นนี้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน
ง. หน้ากาก (Persona) หมายถึง สภาวะของบุคคลที่จะต้องแสดงบทบาทไปตามความคาดหวังของสังคมและเป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีตามที่สังคมกำหนด หรือเป็นการแสดงออกเพื่อให้ได้รับการยอมรับและสร้างความประทับใจบุคคลอื่นๆ ดังนั้นในบางครั้งบุคลิกภาพของบุคคลที่เกิดจากการใช้หน้ากาก จึงอาจจะมีความขัดแย้งกับบุคลิกภาพที่แท้จริงภายในตัวบุคคลนั้นได้ เท่ากับว่าหน้ากากจึงทำหน้าที่ควบคุมบุคลิกภาพส่วนที่ไม่ดีที่แท้จริงของบุคคลไม่ให้ปรากฎออกมาต่อสังคมภายนอก ความขัดแย้งระหว่างบุคลิกภาพเหล่านี้ถ้าเกิดบ่อยครั้งในหลายๆ เรื่องอาจจะทำให้บุคคลนั้นขาดความเป็นตัวของตนเอง กลายเป็นคนสวมหน้ากากเข้าหาผู้อื่น หรือเป็นคนที่มีความขัดแย้งในใจได้
จ. ลักษณะซ่อนเร้น (Anima or Animus) จุงเชื่อว่ามนุษย์มีลักษณะทั้งสองเพศอยู่ในคนคนเดียวกัน โดยจะเห็นได้จากการที่เพศชายจะมีความนุ่มนวลและอ่อนโยนซึ่งเป็นลักษณะของเพศหญิงอยู่ในตัว จุงเรียกลักษณะเช่นนี้ว่าแอนิมา (Anima) ส่วนผู้หญิงจะมีความเข้มแข็ง กล้าหาญ และเด็ดขาดซึ่งเป็นลักษณะของเพศชายซ่อนเร้นอยู่ในตัวเช่นกัน จุงเรียกลักษณะเช่นนี้ว่าแอนิมัส (Animus) จากลักษณะทั้งสองเพศที่ซ่อนเร้นอยู่นี้จึงทำให้ผู้ชายเข้าใจธรรมชาติของผู้หญิง และผู้หญิงก็มีความเข้าใจธรรมชาติของผู้ชายได้ด้วยตัวของตัวเอง
ฉ. เงาแฝง (Shadow) เป็นภาพหรืออาร์คีไทป์รูปแบบหนึ่งที่ก่อตัวมาจากสัตว์ก่อนจะมีวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ หรืออาจกล่าวได้ว่าเงาแฝงเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ที่จะส่งผลให้มนุษย์แสดงความชั่วร้าย ก้าวร้าว และป่าเถื่อน รวมทั้งพฤติกรรมต่างๆ ที่ขัดแย้งกับกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม เงาแฝงเหล่านี้จะถูกควบคุมและปกปิดโดยหน้ากาก หรือเก็บกดไว้ในจิตใต้สำนึก

     (2) ลักษณะบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล
จากโครงสร้างทางบุคลิกภาพที่จุงได้อธิบายไว้  จุง จึงแบ่งลักษณะบุคลิกภาพของบุคคลไว้ 2 ประเภทคือ
ก. บุคลิกภาพแบบเก็บตัว (Introvert) เป็นบุคลิกภาพของบุคคลที่มีแนวโน้มเป็นพวกเก็บตัว ชอบความสงบเงียบไม่ชอบการเข้าสังคม ขี้อาย พอใจที่จะอยู่เบื้องหลัง ขาดความมั่นใจในตนเอง ชอบใช้วิธีหนีปัญหามากกว่าเผชิญปัญหา ส่วนดีของบุคลิกภาพแบบเก็บตัวนี้มักจะเป็นบุคลิกของ นักประดิษฐ์และนักคิดค้นทั้งหลาย แต่ส่วนเสียมักจะเกิดอาการซึมเศร้า แยกตัว และไม่สนใจสังคม
ข. บุคลิกภาพแบบแสดงตัว (Extrovert) เป็นบุคลิกภาพประเภทแสดงตัว ชอบเข้าสังคมรักความสนุกสนาน ชอบการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ที่เป็นจริง มีมนุษยสัมพันธ์ดี กล้าที่จะแสดงออก ชอบความเป็นผู้นำต้องการเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป คบคนง่าย ชอบเผชิญปัญหามากกว่าการหนีปัญหา
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงจะพบว่าคนบางคนจะมีบุคลิกภาพแบบกลางๆ (Ambivert)  มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างบุคลิกภาพแบบเก็บตัวและแบบเปิดเผย กล่าวคือ มักจะมีบุคลิกภาพเป็นไปตามสถานการณ์ เช่น ในสถานการณ์หนึ่งอาจมีบุคลิกภาพแบบแสดงตัว ในอีกสถานการณ์หนึ่งอาจเป็นแบบเก็บตัวก็ได้
จุงแสนอแนะว่าบุคลิกภาพแบบกลางๆ เป็นบุคลิกภาพที่พอเหมาะ ซึ่งน่าจะปรากฏในบุคคลที่สามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างดีมีประสิทธิภาพ หรือเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดีนั่นเอง


อ้างอิง 
ทฤษฎีบุคลิกภาพของคาร์ จี จุง ( Carl G. Jung Theory ). (ออนไลน์).สืบค้นจาก :  http://www.novabizz.com/NovaAce/Personality/Theory_Carl_Jung.htm  (Jan 28, 2016)

การนำหลักจิตวิทยามาอธิบายวรรณกรรม.(ออนไลน์).สืบค้นจาก :  http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=rjaantick&month=23-01-2011&group=7&gblog=3 (Jan 28, 2016)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น