วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2559

11.แนวความคิดตามทฤษฎีกลุ่มพฤติกรรมนิยม

ทฤษฏีพฤติกรรมนิยม (Behavioral Theory)

                เป็นกลุ่มทฤษฏีที่มีนักพฤติกรรมนิยมได้ศึกษาอย่างกว้างขวาง เช่น พาฟลอฟ (Pavlov) , จอห์น วัตสัน (John B. Watson) , ธอร์นไดค์(Thorndike ), สกินเนอร์ (Skinner) และโวลเป้ (Wolpe) เป็นต้น นักทฤษฏีกลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีตรวจสอบตนของกลุ่มโครงสร้างจิตที่ยังมาสามารถพิสูจน์ทดลองในเชิงวิทยาศาสตร์ได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้กลุ่มคนยังมีอคติในการรายงานความรู้สึกของตนเอง กลุ่มนี้ได้มีการใช้ทฤษฏีการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย เพื่ออธิบายพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงและพยากรณ์พฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้ แนวคิดนี้มีความเชื่อว่า พฤติกรรมทุกพฤติกรรมเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ จากสิ่งแวดล้อม และสาเหตุดังกล่าวนั้นอยู่ในรูปของสิ่งเร้า (Stimulus : S) อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มากระตุ้นอินทรีย์ (Organism ) ทำให้อินทรีย์แสดงการตอบสนอง (Response : R ) ออกมา การค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าที่มีคุณสมบัติแน่นอนกับการตอบสนองที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เกิดความเข้าใจและอธิบายถึงกะบวนการทางจิตวิทยาและพฤติกรรมของมนุษย์ที่ซับซ้อนได้ วิธีการที่ใช้ศึกษาคือวิธีการทดลอง
นักทฤษฏีในกลุ่มพฤติกรรมนิยมได้อธิบายแนวคิดกลุ่มพฤติกรรมนิยมไว้ 3 ประการ ดังนี้

     1.การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (Classical Conditioning)
การเรียนรู้จะเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขของสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นมากกว่าผลกรรมของพฤติกรรม การศึกษาในด้านนี้ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาของพาฟลอฟ (Pavlov)  Classical Conditioning เป็นเงื่อนไขที่เกิดขึ้นโดยปราศจากแรงเสริม
พาฟลอฟได้ทำการทดลองกับสุนัขโดยใส่อาหารจากปากสุนัขและวัดปริมาณของน้ำลายจากท่อที่ใส่เข้าไปในท่อน้ำลาย พาฟลอฟพบว่าตัวกระตุ้นที่นำไปสัมพันธ์กับการให้อาหารสุนัขจะทำให้น้ำลายไหล ถ้าหากต่อมาให้แต่ตัวกระตุ้นเพียงลำพังก็ตาม
อาหารเป็นสิ่งเร้าปราศจากเงื่อนไข (Unconditioned stimulus ; UCS ) ซึ่งกระตุ้นให้สุนัขน้ำลายไหล (Unconditioned response ; UCR) ต่อมาพาฟลอฟจะสั่นกระดิ่งก่อนให้อาหารเล็กน้อย เสียงกระดิ่งเป็นสิ่งเร้ามีเงื่อนไข (Conditioned stimulus ; CS ) สุนัขก็น้ำลายไหลทุกครั้ง ต่อมาสั่นกระดิ่งอีกแต่ไม่ให้อาหาร สุนัขก็ยังคงน้ำลายไหล (Conditioned response ; CR)
แนวทางการบาบัดรักษา
การบำบัดรักษาตามแนวคิดของพฤติกรรมนิยม การเรียนรู้แบบวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (Classical Conditioning) ใช้หลักการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไข โดยการนำสิ่งเร้า 2 อย่างมาจับคู่กัน เพื่อให้เกิดพฤติกรรมใหม่ที่เหมาะสมใช้รักษาเด็กที่มีปัญหาปัสสาวะรดที่นอน

     2.การให้แรงเสริม (Reinforcement)
พัฒนาโดย B.F. Skinner ตามหลักของ Operant Conditioning การให้ Positive reinforcement การให้ Negative reinforcement การให้สิ่งเร้าที่ไม่พึงปรารถนาหรือลดสิ่งเร้าที่ต้องการ เพื่อให้งดพฤติกรรมไม่เหมาะสม
การบำบัดรักษาตามแนวคิดของสกินเนอร์
สกินเนอร์เป็นพฤติกรรมศาสตร์อีกผู้หนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย สกินเนอร์ได้ใช้หลักการเรียนรู้แบบลงมือทำ (operant conditioning) คือการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นผู้กระทำพฤติกรรมแล้วจะได้รางวัล ซึ่งรางวัลเป็นผลให้ผู้เรียนกระทำพฤติกรรมนั้นๆอีก
สกินเนอร์ได้ใช้หลักการเรียนรู้ดังกล่าว แล้วมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยจิตเวชโดยใช้วิธีการดังนี้
1.การใช้แรงเสริมบวก (Positive reinforcement )  คือ การเพิ่มความถี่ของพฤติกรรมโดยการให้แรงเสริมบวกเพื่อให้แสดงพฤติกรรมที่ต้องการ เป็นการลดพฤติกกรมที่เป็นปัญหา เพื่อให้แสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมที่ต้องการ เช่น การให้เบี้ยอัตถากรไปแลกของที่อยากได้(Token economy)
2.การให้แรงเสริมลบ (Negative reinforcement )  คือ การให้สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาหรือการงดสิ่งเร้าที่พึงพอใจเมื่อเกิดพฤติกรรมที่มีปัญหา
3.การปรุงแต่งพฤติกรรม (shaping technique) คือ การแต่งพฤติกรรมจากพฤติกรรมง่ายๆไปสู่พฤติกรรมที่ซับซ้อนและการปรุงแต่งจะต้องค่อยเป็นค่อยไปที่ละขั้น

       3. Systematic desensitization (การลดความวิตกกังวลอย่างเป็นระบบ)
การบำบัดรักษาตามแนวของโวลเป้ (Wolpe)  โวลเป้ได้ให้ความหมายของพฤติกรรมแปรปรวนว่าเป็นการเรียนรู้เพื่อตอบสนองต่อภาวะวิตกกังวลและพฤติกรรมที่แสดงออกนั้นแม้จะดูแปลกต่อสายตาของผู้อื่นก็ตามแต่บุคคลสามารถลดความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นนั้นได้ โวลเป้ได้เสนอแนะวิธีการรักษาโดยเสนอวิธีการตอบสนอง ซึ่งจะลดภาวะวิตกกังวลเสียใหม่ด้วยวิธีการผ่อนคลาย โดยที่โวลเป้เชื่อว่าการผ่อนคลายเป็นภาวการณ์ซึ่งตรงกันข้ามกับความวิตกกังวล ดังนั้น ควรจะลดความวิตกกังวลได้
       การลดความวิตกกังวลอย่างเป็นระบบ(Systematic desensitization) ประกอบด้วยวิธีการ 3 แบบ คือ
1.การจัดลำดับความวิตกกังวลจากมากไปหาน้อย
2.การฝึกการผ่อนคลาย
3.การจับคู่ระหว่างสิ่งที่ทำให้เกิดความผ่อนคลายกับสภาวะที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล เช่น คนที่กลัวความตาย อาจค่อยๆเรียนรู้ที่จะเผชิญกับภาวะวิตกกังวลจากความตาย โดยการไปงานศพและค่อยๆฝึกผ่อนคลายเพื่อให้อยู่ในสถานการณ์นั้นๆ ซึ่งผู้ป่วยจะค่อยๆปรับได้ ความวิตกกังวลจะลดลง
การฝึกการแสดงออกถึงความรู้สึกที่ควรแสดงออกในสังคมโดยไม่วิตกกังวล เช่น การยืดการแสดงออกต่อบุคคลอื่นๆในขณะที่มีสิ่งเร้าทำให้บุคคลโกรธ การแสดงออกเมื่อเราโกรธและไม่พอใจจะเป็นการแสดงออกที่รุนแรงซึ่งไม่เป็นผลดีหรือไม่เหมาะสม การฝึกการแสดงออกที่เหมาะสมต่อสิ่งเร้าที่บุคคลไม่พอใจโดยการผ่อนคลายจะช่วยให้การแสดงออกลดความรุนแรงลง ซึ่งฝึกได้
โวลเป้ใช้วิธีการนี้โดยให้ผู้ป่วยกับผู้รักษาผลักกันเล่นบทบาท ให้ผู้ป่วยดูจุดบกพร่องของการแสดงบทบาทนั้นๆ โดยผู้รักษาแสดงบทบาทของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะเห็นว่าพฤติกรรมส่วนใดของตนซึงควรได้รับการแก้ไขและนำไปฝีกหัด เป็นต้น


อ้างอิง  

บทที่ 2 แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช.(ออนไลน์).สืบค้นจาก :  www.teacher.ssru.ac.th/thitavan_ho/.../2.DR_THitavan.ssru.ac.th.pdf (Jan 28, 2016)


10.แนวความคิดตามทฤษฎีกลุ่มมนุษยนิยม ของ Abraham Maslow

ทฤษฎีความต้องการ (Need Theories)
ของ อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow)



ทฤษฎีลำดับความต้องการ (Hierachy of Needs Theory) เป็นทฤษฎีที่พัฒนาขึ้นโดย อับราฮัม มาสโลว์ (Abrahum Maslow) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแบรนดีส์ เป็นทฤษฎีที่รู้จักกัน มากที่สุด ทฤษฎีหนึ่ง ซึ่งระบุว่า บุคคลมีความต้องการเรียงลำดับจากระดับพื้นฐานที่สุดไปยังระดับสูงสุด กรอบความคิดที่สำคัญ ของทฤษฎีนี้ มีสามประการ คือ
1.บุคคลเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความต้องการ ความต้องการมีอิทธิพลหรือเป็นเหตุจูงใจต่อพฤติกรรม ความต้องการที่ยังไม่ได้รับ การสนองตอบเท่านั้นที่เป็นเหตุจูงใจ ส่วนความต้องการที่ได้รับการสนองตอบแล้วจะไม่เป็นเหตุจูงใจอีกต่อไป
2.ความต้องการของบุคคลเป็นลำดับชั้นเรียงตามความสำคัญจาก ความต้องการพื้นฐาน ไปจนถึงความต้องการที่ซับซ้อน
3.เมื่อความต้องการลำดับต่ำได้รับการสนอบตอบอย่างดีแล้ว บุคคลจะก้าวไปสู่ความต้องการลำดับที่สูงขึ้นต่อไป
มาสโลว์ เห็นว่าความต้องการของบุคคลมี 5 กลุ่ม จัดแบ่งได้เป็น 5 ระดับ จากระดับต่ำไปสูง เพื่อความเข้าใจ มักจะแสดงลำดับของความต้องการเหล่านี้ โดยภาพ ดังนี้

ภาพ แสดงลำดับความต้องการของมนุษย์ตามแนวคิดของมาสโลว์

ความต้องการทางร่างกาย (Physiological Needs)
เป็นความต้องการลำดับต่ำสุดและเป็นพื้นฐานของชีวิต เป็นแรงผลักดันทางชีวภาพ เช่น ความต้องการอาหาร น้ำ อากาศ ที่อยู่อาศัย หากพนักงานมีรายได้จากการปฏิบัติงานเพียงพอ ก็จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยมีอาหารและที่พักอาศัย เขาจะมีกำลังที่จะทำงาน ต่อไป และการมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม เช่น ความสะอาด ความสว่าง การระบายอากาศที่ดี การบริการสุขภาพ เป็นการสนองความต้องการในลำดับนี้ได้
ความต้องการความปลอดภัย (Safety Needs)
เป็นความต้องการที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ความต้องการทางร่างกายได้รับการตอบสนองอย่างไม่ขาดแคลนแล้ว หมายถึง ความต้องการ สภาพแวดล้อมที่ปลอดจากอันตรายทั้งทางกายและจิตใจ ความมั่นคงในงาน ในชีวิตและสุขภาพ การสนองความต้องการนี้ ต่อพนักงาน ทำได้หลายอย่าง เช่น การประกันชีวิตและสุขภาพ กฎระเบียบข้อบังคับที่ยุติธรรม การให้มีสหภาพแรงงาน ความปลอดภัยใน การปฏิบัติงาน เป็นต้น
ความต้องการทางสังคม (Social Needs)
เมื่อมีความปลอดภัยในชีวิตและมั่นคงในการงานแล้ว คนเราจะต้องการความรัก มิตรภาพ ความใกล้ชิดผูกพัน ต้องการเพื่อน การมีโอกาสเข้าสมาคมสังสรรค์กับผู้อื่น ได้รับการยอมรับเป็นสมาชิกในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่ม
ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียง (Esteem Needs)
เมื่อความต้องการทางสังคมได้รับการตอบสนองแล้ว คนเราจะต้องการสร้างสถานภาพของตัวเองให้สูงเด่น มีความภูมิใจและสร้าง การนับถือตนเอง ชื่นชมในความสำเร็จของงานที่ทำ ความรู้สึกมั่นใจในตัวเองแลเกียรติยศ ความต้องการเหล่านี้ได้แก่ ยศ ตำแหน่ง ระดับเงินเดือนที่สูง งานที่ท้าทาย ได้รับการยกย่องจากผู้อื่น มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในงาน โอกาสแห่งความก้าวหน้าในงานอาชีพ เป็นต้น
ความต้องการเติมความสมบูรณ์ให้ชีวิต (Self-actualization Needs)
เป็นความต้องการระดับสูงสุด คือต้องการจะเติมเต็มศักยภาพของตนเอง ต้องการความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาสูงสุดของตัวเอง ความเจริญก้าวหน้า การพัฒนาทักษะความสามารถให้ถึงขึดสุดยอด มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจและการคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ การก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นในอาชีพและการงาน เป็นต้น
มาสโลว์แบ่งความต้องการเหล่านี้ออกเป็นสองกลุ่ม คือ ความต้องการที่เกิดจากความขาดแคลน (deficiency needs) เป็นความต้องการระดับต่ำ ได้แก่ ความต้องการทางกายและความต้องการความปลอดภัย อีกกลุ่มหนึ่งเป็น ความต้องการก้าวหน้า และพัฒนาตนเอง (growth needs) ได้แก่ ความต้องการทางสังคม เกียรติยศชื่อเสียง และความต้องการเติมความสมบูรณ์ให้ชีวิต จัดเป็นความต้องการระดับสูง และอธิบายว่า ความต้องการระดับต่ำจะได้รับการสนองตอบจากปัจจัยภายนอกตัวบุคคล ส่วนความต้องการระดับสูง จะได้รับการสนองตอบ จากปัจจัยภายในตัวบุคคลเอง
ตามทฤษฎีของมาสโลว์ ความต้องการที่รับการตอบสนองอย่างดีแล้ว จะไม่สามารถเป็นเงื่อนไขจูงใจบุคคลได้อีกต่อไป แม้ผลวิจัย ในเวลาต่อมา ไม่สนับสนุนแนวคิดทั้งหมดของมาสโลว์ แต่ทฤษฎีลำดับความต้องการของเขา ก็เป็นทฤษฎีที่เป็นพื้นฐาน ในการอธิบายองค์ประกอบของ แรงจูงใจ ซึ่งมีการพัฒนาในระยะหลังๆ



อ้างอิง 

ทฤษฎีความต้องการ (Need Theories).(ออนไลน์).สืบค้นจาก :  http://www.novabizz.com/NovaAce/Behavior/Need_Theories.html (Jan 28, 2016)

9.แนวความคิดตามทฤษฎีการวิเคราะห์การติดต่อสัมพันธ์ ของ Eric Berne

ทฤษฎีการวิเคราะห์การติดต่อสัมพันธ์  (Transactional Analysis หรือ TA)
ของอีริค เบิร์น (Eric Berne)



ผู้นำคือ อีริค เบิร์น (Eric Berne)   อีริค เบิร์นกล่าวว่าพฤติกรรมของบุคคลจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเวลา เช่นเมื่อประสบความสำเร็จก็จะดีใจผิดหวังก็จะแสดงความเสียใจ มีเนื้อหาสำคัญดังนี้
       1.โครงสร้างบุคลิกภาพ ในบุคคลหนึ่งจะมีภาวะต่างๆอยู่ในตน 3 ภาวะ คือ
1.1.พฤติกรรมแบบพ่อแม่ (Parent Ego State)  หรือ P เกิดจากการหล่อหลอมเลียนแบบเอาอย่างบิดามารดาหรือญาติพี่น้องที่อบรมเลี้ยงดู แบ่งย่อยเป็น 2 แบบ

          1.)พ่อแม่ที่ชอบควบคุม วิพากษ์วิจารณ์ (Controlling/CriticalParent : CP) ชอบควบคุมความประพฤติ กำหนดขอบเขตวิถีชีวิตของตัวเองและผู้อื่น 
          2.) พ่อแม่ดูแลเอาใจใส่ ช่วยเหลือปกป้อง (Nurturing Parent : NP) มีทัศนะต่อผู้อื่นว่า คนอื่นมีศักยภาพในตัวเอง แต่อาจต้องการผู้ช่วยเหลือมีนิสัยใจคอดี เห็นอกเห็นใจผู้อื่น

1.2. บุคลิกภาพแบบผู้ใหญ่ (Adult Ego State) หรือ A เกิดจากการพัฒนาทางสมองประสบการณ์ การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในภายหลัง ทำให้เกิดสติปัญญาความคิด หลักการ เหตุผลในการตัดสินใจชอบช่วยเหลือการประเมินทางเลือกจะพิจารณาจากข้อเท็จจริง ข้อมูลที่มีอยู่จริงเป็นคนที่ไม่มีอารมณ์เข้ามาแทรกแซงเป็นนักวิชาการ นักคิดคำนวณ และมุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับสถานการณ์ สนใจความคิดเห็นของผู้อื่น เปิดใจกว้างรับฟังผู้อื่น ไม่เครียดเกร็ง
1.3. บุคลิกภาพแบบเด็ก (Child Ego State) หรือ C เป็นส่วนที่เคยแสดงออกหรือรู้สึกตั้งแต่ยังเด็กเล็กอยู่ ซึ่งเกิดจากธรรมชาติที่ติดตัวมา มี 2 ลักษณะคือ

          1.) เด็กอิสระ (Free Child : FC) อยากรู้อยากเห็น ชอบสนุกรักธรรมชาติ จริงใจ ไม่ปิดบังอารมณ์หัวเราะ/ร้องไห้เสียงดังโดยไม่อายรู้สึกอย่างไรจะแสดงออกอย่างนั้นไม่เสแสร้ง มีความเป็นตัวของตัวเองมองโลกในแง่ดี มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไว้ใจผู้อื่นเสมอ
          2.) เด็กปรับตัว-จำยอม (Adapted Child : AC) จะชอบยอมทำตาม ไม่กล้าขัดใจคนอื่น ไม่รู้จักปฏิเสธ ขาดความเป็นตัวของตัวเอง เป็นลูกแหง่อดทนเพื่อไม่ให้ผู้ใหญ่ตำหนิว่ากล่าว ชอบก้มหน้าไม่กล้าสบตาชอบพยักหน้าหลายครั้ง พูดเสียงเบา หรือบางครั้งอาจจะไม่ชอบทำตามผู้อื่น แต่ก็ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ มักแสดงอาการหงุดหงิดต่อต้าน ดื้อดึง พูดจาประชดประชันท้าทาย ประท้วง ชอบนินทา อิจฉาริษยา หวาดระแวง ไม่ไว้ใจใคร 

       2. การติดต่อสื่อสารของบุคคล หมายถึง การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 2 คน ในการสื่อสารจะมี 2 ระดับ คือระดับที่เปิดเผย เป็นการสื่อสารที่พูดออกมาตรงๆ แต่ข่าวสารที่สองจะถูกส่งออกมาในลักษณะที่ปกปิด
1.)การติดต่อสื่อสารที่สอดคล้อง(Complementary transaction) 
2.)การติดต่อสื่อสารที่ขัดแย้ง(Crossed transaction) 
3.)การติดต่อสื่อสารที่เคลือบแฝง(Ulterior transaction) 
       3. พฤติกรรมที่มีผลกระทบต่อผู้อื่น มี 5 ลักษณะ
1.) พฤติกรรมที่ส่งผลทางบวกเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกอย่างจริงใจสุภาพ อ่อนโยน ยกย่องให้เกียรติเคารพ เห็นอกเห็นใจ เข้าใจ ให้อภัย
2.) พฤติกรรมที่ส่งผลทางลบเป็นพฤติกรรมที่ไม่สุภาพ กระด้างดุด่า ตำหนิติเตียน เย้ยหยัน ดูหมิ่นเหยียดหยาม ทำให้ผู้อื่นไม่พอใจอับอาย โกรธ หมดกำลังใจ
3.) พฤติกรรมที่มีเงื่อนไข เป็นพฤติกรรมทั้งทางบวกและทางลบ เป็นคำพูดที่มีเงื่อนไขเช่น ฉันจะให้โบนัสคุณ 2เดือนถ้าคุณทำยอดขายได้ 2 เท่าของปีที่แล้ว
4.) พฤติกรรมหลอกลวง ไม่มีความจริงใจ แกล้งสรรเสริญเยินยอม
5.) พฤติกรรมที่เป็นพิธีการ เป็นการกระทำเพื่อมารยาทหรือทำตามกฎเกณฑ์ของสังคม เช่นการไหว้ การจับมือ การทักทายปราศรัย การกล่าวต้อนรับ
       4. ทัศนคติต่อตนเองและผู้อื่น  ทัศนคติต่อตนเองและผู้อื่นจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์Harris Thomas กล่าวว่า บุคคลมีทัศนคติต่อตนเองและผู้อื่นแบบใดแบบหนึ่งใน 4 แบบ 
1.) ฉันเลวแต่คุณดี (I’m not OK,You’re OK) ต้องการกำลังใจ ต้องการการเอาใจใส่จากผู้บังคับบัญชา 
2.) ฉันดีแต่คุณเลว (I’m OK,You’re not OK) ตนเองดีมีคุณค่า มองคนอื่นว่าเลว ชอบตำหนิคนอื่น ชอบซัดโทษ ผู้อื่น ยกตนข่มท่าน
3.) ฉันเลวคุณก็เลวด้วย (I’m not OK,You’re not OK) ตนเองไม่มีคุณค่า คนอื่นก็ไม่มีคุณค่ามองโลกในแง่ร้าย หมดหวังในชีวิตไม่มีจุดมุ่งหมายในชีวิตผู้ป่วยโรคจิตโรคประสาท
4.)ฉันดีเธอก็ดีด้วย (I’m OK,You’re OK) มีสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ มองตนเองผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมในแง่ดี ชีวิตมีความสุข



อ้างอิง 

ทฤษฎีการวิเคราะห์การติดต่อสัมพันธ์ (Transactional Analysis) หรือ TA.(2553).(ออนไลน์).สืบค้นจาก :  http://childhood281.blogspot.com/2010/01/transactional-analysis-ta.html (Jan 28, 2016)

8.แนวความคิดตามทฤษฎีบุคลิกภาพ ของ Erich Fromn

ทฤษฎีบุคลิกภาพของฟรอมม์ อิริค ฟรอมม์ (Erich Fromm)



แนวคิดทางบุคลิกภาพ
อีริค  ฟรอมม์ (Erich  Fromm) เกิดที่เมืองฟรังก์เฟิร์ต เยอรมัน เมื่อ ค.ศ.1900 อีริค  ฟรอมม์ เป็นนักทฤษฏีบุคลิกภาพที่มีพื้นฐานการศึกษาทางสังคมวิทยาและจิตวิทยาแล้วทำงานเป็นอาจารย์   จากพื้นฐานการศึกษาอย่างกว้างขว้างทางประวัติศาสตร์  สังคมวิทยา วรรณคดีและปรัชญา เขาได้ทุ่มเทความสนใจเพื่ออธิบายความเห็นว่า  โครงสร้างของสังคมใดๆย่อมกล่อมเกลาบุคลิกภาพของสมาชิกให้เข้ากันได้กับค่านิยมส่วนรวมของสังคมนั้นๆ  หนังสือของฟรอมม์ได้รับการต้อนรับอย่างแพร่หลายจากนักอ่านทั่วโลก  นอกจากผู้ศึกษาสาขาจิตวิทยา  จิตแพทย์ สังคมวิทยา ปรัชญา และศาสนา ยังรวมทั้งผู้อ่านที่สนใจความรู้ทั่วๆไปด้วย
แนวคิดที่สำคัญ
แนวคิดของฟรอมม์สะท้อนให้เห็นว่าได้รับอิทธิพลจากความคิดของคาร์ล  มาร์กซ์เป็นอย่างมาก ฟรอมม์เปรียบเทียบความคิดของฟรอยด์กับมาร์กซ์และแสดงความชื่นชมความคิดของมาร์กซ์มากกว่าความคิดของฟรอยด์ จนฟรอมม์ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นนักทฤษฎีบุคลิกภาพแบบมาร์กซ์
แนวคิดที่สำคัญบางประการมีดังนี้
ความอ้างว้างเดียวดาย
เรื่องนี้เป็นสาระที่ฟรอมม์อธิบายมาก  เขาเชื่อว่ามนุษย์ยุคปัจจุบันต้องเผชิญกับความอ้างว้างเดียวดายด้วยสาเหตุหลายประการเช่น
     1. การที่มนุษย์มีเหตุผลและจินตนาการต่างๆทำให้มนุษย์มีวิวัฒนาการทางอารยธรรมเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็แยกตัวเหินห่างจากธรรมชาติ จากสัตว์โลกพวกอื่นๆและจากบุคคลอื่นๆ
     2. มนุษย์แสวงหาอิสระเสรีทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนา เมื่อได้มาแล้วก็จำต้องแลกเปลี่ยนด้วยความอ้างว้าง  ตัวอย่างเช่น เด็กวัยรุ่นที่เป็นอิสระพ้นจากความดูแลพ่อแม่ผู้ปกครอง จะพบว่าตัวเองเผชิญความว้าเหว่
     3.พัฒนาการทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ในวัตถุใช้สอยประจำวัน เช่นเครื่องมือเพื่อความบันเทิง เครื่องทุ่นแรงในการทำงาน  ทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อยลง เมื่อต้องติดต่อพูดจาก็มีท่าทีห่างเหินไว้ตัว
ฟรอมม์เสนอ  ทางแก้ความอ้างว้าง 2 ประการคือ
   1.สร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนมนุษย์บนพื้นฐานความรักสร้างสรรค์ ( productive Love ) ซึ่งได้แก่
- ความเอื้ออาทรต่อกัน
- ความรับผิดชอบต่อกันและกัน
- ความนับถือซึ่งกันและกัน
- ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
   2.ยอมตนอ่อนน้อมและทำตัวคล้อยตามสังคม
ฟรอมม์มีความเห็นว่ามนุษย์เราใช้เสรีภาพสร้างสังคมให้ดีขึ้นได้ตามข้อเสนอข้อแรก ส่วนการแก้ไขความอ้างว้างด้วยการทำตัวคล้อยตามสังคมตามข้อเสนอข้อหลังเขาเห็นว่าเป็นการเข้าสู่ความเป็นทาสรูปแบบใหม่นั่นเอง ในหนังสือ Escape from Freedom ที่เขาเขียนในปี1941 ขณะลัทธินาซีกำลังรุ่งโรจน์ เขาชี้ให้เห็นว่าลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นถูกใจคนหมู่มากเพราะมันเสนอจะให้ความมั่นคง (แก่ผู้รู้สึกอ้างว้าง)ความต้องการ
ฟรอมม์กล่าวว่ามนุษย์มีความต้องการ 5 ประการ คือ
     1. ความต้องการมีสัมพันธภาพ
                เนื่องจากมนุษย์พบกับความอ้างว้างเดียวดายตามเหตุที่ได้กล่าวมาจึงต้องแก้ไขด้วยการสร้างสัมพันธภาพกับคนอื่นๆ วิธีที่ดีงามต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความรักแบบสร้างสรรค์(ความเอื้ออาทรต่อกัน/ความรับผิดชอบต่อกันและกัน/ความนับถือซึ่งกันและกัน/ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
     2. ความต้องการสร้างสรรค์
เนื่องจากมนุษย์มีความสามารถทางสติปัญญาและอารมณ์สูง จึงมีความต้องการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมของชีวิตแตกต่างกับสัตว์โลกชั้นต่ำ  หากผู้ใดไม่มีความต้องการประเภทนี้ก็มักจะเป็นนักทำลาย เป็นอันตรายต่อผู้อื่นและสังคม
     3. ความต้องการมีสังกัด
คือความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว/ของสังคม/ของโลกความต้องการประเภทนี้ที่น่าพึงพอใจและถูกต้องคือการมีไมตรีจิตกับเพื่อนมนุษย์โดยทั่วไป
     4. ความต้องการมีอัตลักษณ์แห่งตน
คือความต้องการจะเป็นตัวของตัวเอง ความต้องการที่จะรู้จักว่าตัวเองเป็นใคร
     5. ความต้องการมีหลักยึดเหนี่ยว
คือความต้องการที่จะมีหลักสำหรับอ้างอิงความถูกต้องในการกระทำของตน เช่น คำกล่าวอ้างว่า ฉันทำอย่างนี้เพราะหัวหน้าสั่งให้ทำ หรือฉันต้องมีรถยนต์เพราะไปทำธุระสะดวกขึ้น ข้ออ้างเหล่านี้อาจสมเหตุสมผลหรือไม่ก็ได้

ความขัดแย้ง
มนุษย์ทุกเพศทุกวัยในสังคม  ต่างมีความขัดแย้งในตนเองเช่น ความขัดแย้งระหว่างความรู้สึกอ้างว้างและความรู้สึกมีอิสระเสรีความเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติกับความห่างเหินจากธรรมชาติ ความเป็นสัตว์โลก (คือความต้องการทางชีวภาพล้วนๆไร้กฎเกณฑ์) กับความเป็นมนุษย์ (ความมีสำนึกรู้-การใช้เหตุผล-การมีจินตนาการ-ความนิ่มนวล-ความรักใคร่ใยดี ฯลฯ)

อิทธิพลของสังคม
ฟรอมม์เป็นนักสังคมศาสตร์ แต่ได้รับการอบรมด้านจิตวิเคราะห์ร่วมด้วย  เนื่องจากเขาเคยอพยพจากยุโรปเข้ามาสู่อเมริกาในช่วงเวลาหนึ่งได้เห็นความแตกต่างระหว่างสังคมยุโรปกับสังคมอเมริกันทำให้ฟรอมม์ยิ่งมีความเชื่อมั่นว่า สังคมมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างสูง ประสบการณ์นี้และความรู้ด้านสังคมศาสตร์ ทำให้เขาอธิบายลักษณะสังคมแบบต่างๆที่มีผลต่อการวางรูปแบบพฤติกรรมมนุษย์ในสังคมแบบนั้นๆ
สังคมแห่งการวางอำนาจ (Authoritarian)
                เนื่องจากมนุษย์กลัวความว้าเหว่ที่จะต้องเผชิญโลกอยู่อย่างโดดเดี่ยว จำต้องแลกความเป็นอิสระของตนเองกับการได้ถูกนับเข้าในหมู่คณะและการตามผู้นำอย่างไม่ต้องคิด  จึงจำเป็นต้องยอมอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้มีอำนาจ
ส่วนผู้มีอำนาจนั้นก็ถือโอกาสวางกฎเกณฑ์ไว้ให้คนทั้งหลายปฏิบัติตาม ใครฝ่าฝืนเป็นผิด  ถ้าเป็นทางบ้านเมืองก็ได้รับโทษหนัก  ถ้าเป็นทางศาสนาก็เป็นบาปมหันต์  มีกฎตายตัวอยู่ว่าต้องเชื่อผู้นำ ไม่ว่าผู้นำจะผิดหรือถูกก็ตาม    ทั้งนี้ย่อมขัดกับหลักการรักตัวเองซึ่งมีอยู่ในมนุษย์ทุกคนและขัดกับหลักการความรับผิดชอบ ซึ่งมนุษย์มีต่อความก้าวหน้าของมนุษยชาติ    ฟรอมม์เห็นว่าความรักตนเองกับความรักผู้อื่นไม่แตกต่างกันเลย ผู้ที่รักตนเองเท่านั้นจึงจะรู้จักรักคนอื่นได้   แต่ในสังคมแห่งการวางอำนาจทำให้ยากที่คนเราจะรักนับถือตนเองได้เพราะแม้แต่ตนเองก็ขาดความเป็นอิสระเสรี
สังคมแห่งการผลิตผล(Productivity)
ในหนังสือ Man for  Himself  ฟรอมม์ชี้ให้เห็นว่าความมุ่งหมายของมนุษย์คือ การมีชีวิตอยู่อย่างเป็นประโยชน์ โดยมีการผลิตผลแก่เพื่อนร่วมโลก   ทัศนคติในทางผลิตผลนี้ก็เกิดจากการรักตนเอง  การที่เรามีความรักตนเองทำให้เรารักผู้อื่นเป็น  ความรักทำให้มนุษย์มีความเอื้ออาทร  มีความรับผิดชอบต่อผู้อื่นตามสิทธิที่เขาควรได้ นั่นคือสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์นั่นเอง
ผู้ที่อยู่ในสังคมแห่งการผลิตผล ย่อมมีบุคลิกภาพอันเป็นอุดมการณ์ที่มนุษย์ประสงค์จะมี   แต่จะมีได้มากเพียงใดนั้นก็สุดแต่ความตั้งใจมุ่งมั่นของมนุษย์  มนุษย์ไม่นิยมการอยู่อย่างเปล่าประโยชน์  บุคคลผู้มิได้สร้างสรรค์สิ่งใดให้กับสังคมให้กับโลกเลยนั้นแม้จะโชคดีเกิดมาบนกองเงินกองทอง  แต่ไร้ความสุขที่แท้จริงแม้ภายนอกจะดูเบิกบานแต่ส่วนลึกในจิตใจหามีความพออกพอใจไม่ ยิ่งตักตวงเอาความสุขเท่าไรก็ยิ่งรู้สึกว่างเปล่า  บุคคลที่รู้ตัวว่าไม่ได้เกิดมาเพื่อทำประโยชน์อะไรเลยชีวิตจะเต็มไปด้วยความหวาดกังวล  กลัวความแก่และความตายอย่างถึงขนาด   ส่วนผู้ที่อิ่มใจเพราะได้ทำประโยชน์ตามฐานานุรูปของตนย่อมสามารถเผชิญกับความแก่ความตายอย่างองอาจ ถือว่าความแก่เป็นเรื่องธรรมดา เพราะเห็นอย่างอื่นสำคัญกว่าความงามฉาบฉวยแห่งร่างกาย ถือเสียว่าตนเองได้ทำสิ่งที่ควรทำมาแล้วย่อมนอนตายตาหลับ
สังคมแห่งการเอาเปรียบ(Receptive)
ได้แก่สังคมที่มีบุคคลกลุ่มหนึ่งตักตวงเอาประโยชน์จากผู้อื่น เช่นลัทธิเจ้าขุนมูลนาย หรือลักษณะนายกับทาส  ผู้ใดอยู่ในฐานะผู้น้อย ยอมรับว่าตนเป็นไพร่พลหรือข้าทาสก็ยอมก้มหน้าแบกภาระซึ่งผู้เป็นนายบัญชาลงมาเพื่อแลกกับผลตอบแทนคือการคุ้มครองป้องกันจากเจ้าขุนมูลนาย  ผู้น้อยในสังคมประเภทนี้ตรงกับ Oral passive ของฟรอยด์และพวกยอมของฮอร์นาย
ผู้ที่อยู่ในสังคมแห่งการเอาเปรียบย่อมกลายเป็นผู้อาศัยผู้อื่นตลอดกาล  ต้องอาศัยพ่อแม่เพื่อนฝูง นายผู้มีอำนาจหรือเทพเจ้าอยู่ทุกลมหายใจหากขาดสิ่งนี้ก็ขาดที่พึ่ง จะรู้สึกอ้างว้างสุดพรรณนา     ผู้ที่อยู่ในสังคมประเภทนี้จะต้องยอมอ่อนน้อมยอมตนต่อผู้มีอำนาจ เพราะไม่กล้าที่จะเสี่ยงออกไปเป็นอิสระ  จำเป็นต้องหาที่เกาะ  ด้วยเหตุเป็นสังคมที่ชอบออกแรงเพื่อให้ได้อะไรมา จึงสอนให้คนเรียนลัดหรือรวยทางลัด
สังคมแห่งการขูดรีด(Exploitative)
ได้แก่สังคมที่มีการกดขี่ข่มเหงทำนาบนหลังคน แบบนายทุนในศตวรรษที่18-19 กล่าวคือนายทุนเห็นแก่ได้ไม่ยอมจัดบริการหรือสวัสดิการให้แก่คนงานที่ทำประโยชน์ให้แก่ตนเลย    บุคคลในสังคมเช่นนี้ย่อมเต็มไปด้วยการชิงดีหักล้างกัน  จะเป็นด้วยไหวพริบหรือเอากันซึ่งๆหน้า    ตรงกับประเภท Oral-aggressive ของฟรอยด์
ผู้อยู่ในสังคมแห่งการขูดรีด ย่อมเอาเปรียบผู้อื่นด้วยการตักตวงผลประโยชน์  แต่ต้องได้อะไรมาด้วยการต่อสู้ชิงไหวชิงพริบ  การได้อะไรฟรีๆคนพวกนี้ไม่นับถือ เพราะเห็นว่าของฟรีนั้นแสดงว่าผู้อื่นไม่ต้องการแล้ว ไม่มีค่าสู้ได้มาด้วยเหลี่ยมคูซึ่งตนถือว่าดีกว่าไม่ได้   ถ้ามีการแจกของฟรีบุคคลประเภทเอาเปรียบจะรีบไปรับแจกแต่บุคคลประเภทขูดรีดจะไม่แยแส แต่ถ้าแย่งมาหรือขโมยมาก็จะภูมิใจมาก  ถ้าบุคคลประเภทนี้มีคู่รักก็มิใช่เพราะเห็นคุณค่าของคนรักนั้นโดยตรงแต่เป็นเพราะคนรักนั้นเป็นที่หมายปองของบุคคลอื่นๆต่างหาก
 สังคมประเภทสะสม(Hoarding)
บุคคลในสังคมประเภทนี้มักหัวโบราณ ได้แก่พวกเศรษฐี ซึ่งถือว่าการมีที่ดิน มีเงินในธนาคารเป็นหลักทรัพย์นั้นถือว่าพอใจแล้ว ยึดถือการเก็บหอมรอมริบ การตระหนี่เหนียวแน่นเป็นสำคัญ     คนในสังคมประเภทนี้ไม่ชอบความคิดใหม่ๆ และมักชอบอิจฉาริษยา  ไม่ชอบให้ใครอื่นเข้ามายุ่งในแวดวงของตน
บุคคลที่อยู่ในสังคมประเภทสะสม ย่อมมีความอบอุ่นใจที่ได้เก็บหอมรอมริบ  ถ้าต้องใช้จ่ายอะไรสักอย่างหนึ่งก็จะรู้สึกว่าเป็นการสูญเสียอย่างร้ายแรง ถือความเป็นเจ้าของเป็นเรื่องสำคัญ แม้แต่คู่ครองก็ถือว่าเป็นสมบัติชิ้นหนึ่งซึ่งตนภูมิใจที่ได้มาครอบครอง  อีกฝ่ายหนึ่งจะรู้สึกอย่างไรก็ไม่สำคัญ
สังคมประเภทการตลาด(Marketing)
เพิ่งจะเกิดขึ้นใหม่ตามความแพร่หลายของลัทธินายทุนสมัยใหม่ เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์มีน้อยลงทุกที  ชีวิตทั้งหลายมีอยู่เพื่อการแลกเปลี่ยนมากกว่าการสร้างสรรค์ผลิตผล   ปรากฏว่าตราและการโฆษณามีความสำคัญยิ่งกว่าผลิตผล  บุคคลกลายเป็นที่สำหรับแลกเปลี่ยน แม้จะอยู่ท่ามกลางผู้คนก็เหมือนกับอยู่โดดเดี่ยวอ้างว้าง   ดังที่ฟรอมม์กล่าวไว้ในหนังสือ The Lonely Crowd
ผู้ที่อยู่ในสังคมประเภทการตลาด เป็นอันว่าในสังคมประเภทนี้  สัมพันธภาพระหว่างบุคคลเป็นอันสิ้นสุดลง สังคมมีแนวโน้มไปในทางวัตถุนิยมมากเท่าใดยิ่งผลิตบุคคลประเภทนี้มากขึ้นเท่านั้น    บุคลิกภาพประเภทการตลาดเกิดจากสังคมที่เรียกตนเองว่าเป็นผู้ก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าแบบนี้ทำให้มนุษย์ห่างเหินจากเพื่อนมนุษย์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นับว่ามนุษย์ต้องสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองให้กับสังคมประเภทนี้เหลือแต่ความคิดว่าหว่านพืชต้องหวังผลหรือตัวใครตัวมัน

องค์ประกอบในการสร้างบุคลิกภาพ
ฟรอมม์เห็นว่าบ้านมีอิทธิพลที่สำคัญแก่บุคลิกภาพ  ฟรอมม์ตั้งข้อสังเกตว่าการเลี้ยงดูเด็กสมัยใหม่นี้เปลี่ยนแปลงไปมาก สมัยนี้พ่อแม่ไม่มั่นใจว่าทำอย่างไรจะถูกเลยปล่อยให้เด็กรับผิดชอบเอาเอง แต่ความรับผิดชอบก็คือภาระอย่างหนึ่ง ถ้าหนักเกินกำลังเด็กก็แบกไม่ไหว
พ่อแม่สมัยนี้มีระดับการครองชีพดีกว่าสมัยก่อน เห็นว่าคนรุ่นตนลำบากมาแล้วไม่อยากให้ลูกต้องลำบากเหมือนตนจึงหาความสบายมามอบให้ ทำให้ลูกกลายเป็นคนประเภทเอาเปรียบคือได้อะไรมาง่ายๆจึงไม่มีความมานะพยายาม ครั้นลูกทำอะไรไม่สำเร็จพ่อแม่ก็ผิดหวัง ส่วนลูกก็ไม่มีความสุขนักเพราะวิสัยมนุษย์นั้นย่อมแสวงหาความสำเร็จ แต่การเลี้ยงดูนำไปสู่การเลี้ยงไม่รู้จักโตเลยกลายเป็นวงจรร้ายมิอาจสร้างสังคมที่ดีงามได้  บุคลิกภาพอันเป็นอุดมการณ์ของมนุษย์เกิดขึ้นจากสัมพันธภาพแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ร่วมทุกข์ร่วมสุข มิใช่ว่าให้ฝ่ายหนึ่งแบกภาระแต่อีกฝ่ายไม่รับผิดชอบ  ฟรอมม์กล่าวว่าสัมพันธภาพแบบร่วมทุกข์ร่วมสุขจะมีขึ้นมาได้ก็ด้วยความรักอันบริสุทธิ์ใจ
                ฟรอมม์มีความเชื่อมั่นว่ามนุษย์มีความใฝ่ดีและสามารถควบคุมตัวเองได้แต่จากหนังสือเล่มหลังสุดชื่อ Anatomy of Humam Destructiveness ได้แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยในพลังแห่งจิตไร้สำนึกซึ่งถือว่าเป็นตัวควบคุมพฤติกรรมมนุษย์จะหนักไปทางความรุนแรง  อย่างไรก็ตามฟรอมม์ไม่เห็นด้วยกับนักชีววิทยาฝ่ายสัญชาตญาณอันมี Konrad Lorenz เป็นต้นซึ่งถือเอาผลของการศึกษาสัตว์มาเทียบเคียงกับมนุษย์ และเห็นว่าความรุนแรงเป็นนิสัยอันเป็นมรดกที่สืบเนื่องมาจากธรรมชาติของสัตว์ที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน   และฟรอมม์ก็ไม่เห็นด้วยกับนักพฤติกรรมศาสตร์เช่น B.F. Skinner ที่ถือว่านิสัยรุนแรงของมนุษย์เกิดจากการวางเงื่อนไขที่เลวและอาจแก้ไขได้ด้วยการวางเงื่อนไขกลับให้พฤติกรรมมนุษย์ในอนาคตไปสู่ความสงบ  ฟรอมม์เห็นว่าการจับเอามนุษย์มาวางเงื่อนไขเอาตามใจชอบนั้นขัดกับพื้นฐานความเป็นมนุษย์ ฟรอมม์เชื่อมั่นว่าสังคมที่เราอยู่ต่างหากที่จะสร้างนิสัยรุนแรงหรือสงบ ดังนั้นจึงควรเน้นที่หน้าที่ของสังคม
ดูเหมือนว่าฟรอมม์จะเป็นนักจิตวิทยาคนเดียว   ที่ได้อธิบายรูปแบบของสังคมประเภทต่างๆที่หล่อหลอมบุคลิกภาพของคนในสังคมนั้นให้เป็นไปอย่างนี้หรืออย่างนั้น  ซึ่งก็ไม่มีผู้ใดวิจารณ์ค้านแนวคิดเรื่องอิทธิพลของลักษณะทางสังคมที่มีต่อบุคลิกภาพของมนุษย์ แต่ก็มีนักวิจารณ์บางท่านกล่าวว่าฟรอมม์เห็นสังคมมนุษย์สวยงามเกินไป เพราะแท้จริงแล้วมนุษย์ไม่สามารถจัดการสังคมให้ดีงามและเหมาะสมสำหรับคนทุกคน  เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนไม่ได้ดีงามเหมือนๆกันทุกคน สมรรถภาพของแต่ละคนก็แตกต่างกัน

ทฤษฏีที่น่าสนใจของฟรอมม์ มีดังนี้
1.การเป็นผู้วางอำนาจ  ฟรอมม์สนใจในอิทธิพลของการเป็นผู้วางอำนาจของบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดที่มีต่อสังคม  เขาเขียนไว้ในหนังสือ  เพราะเหตุที่คนเรากลัวความหว้าเหว่ที่ต้องผจญอยู่แต่ผู้เดียว  แม้ว่าต้องแลกกับความเป็นตัวของตัวเอง  ซึ่งปรารถนามาแต่ต้น  ก็ทำให้คนเราจำยอมอ่อนน้อมต่อผู้วางอำนาจ  ยอมตามผู้นำ  ฟรอมม์สังเกตเห็นว่าภายใต้ลัทธิวางอำนาจนี้  ผู้ใดผ่าฝืนถือว่าเป็นบาปอย่างมหันต์  เพราะมีกฎตายตัวอยู่ว่าต้องเชื่อผู้นำ  แม้ว่าผู้นำจะผิดก็ไม่มีทางที่จะเถียงได้  ทั้งนี้ย่อมขัดกับหนักความรักของตัวเอง  และความรับผิดชอบที่คนเรามีต่อความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ชาติ
2.การผลิตผล ฟรอมม์มีความเห็นว่ากิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะเจริญสัมพันธภาพกับโลกแห่งผู้คนและสิ่งต่างๆและกับตัวเองได้ดีสัมพันธภาพนี้อาจเป็นในทำนองผลิตผลหรือทำลาย ฟรอมม์ได้เน้นไว้ในหนังสือ Man for Himself ว่าความมุ่งหมายและหลักศีลธรรมของมนุษย์ก็คือ การมีชีวิตอยู่อย่างมีประโยชน์ ไม่อยู่เปล่าโดยปราศจากผลิตผลให้เป็นที่อาศัยของเพื่อนร่วมโลก ฟรอมม์ชี้ให้เห็นว่าบุคคลที่ทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์ที่แท้จริงนั้นมิใช่ประเภทที่วิ่งวุ่นวาย เจ้ากี้เจ้าการ ในการจัดงานกุศลง่ายๆ สาระแนไปเสียทุกเรื่อง หรืออุทิศเวลาให้แก่สังคมเสียจนไม่เป็นอันกินอันนอน อันที่จริงบุคคลประเภทเจ้ากี้เจ้าการนั้นก็อยู่ในประเภทโรคประสาทไม่แพ้พวกขี้เกียจเลย บุคคลที่บำเพ็ญประโยชน์อันที่จริงแล้วย่อมแตกต่างจากพวกวุ่นวายและพวกขี้เกียจเพราะเขามีความสามารถที่จะมองเห็นสถานการณ์ที่แท้จริงและยอมรับนับถือผู้คนที่ตอยูในสถานการณ์นั้น ตามฐานะที่แท้จริงของเขาบุคคลที่มีความสามารถเช่นนี้ย่อมรู้จักมองโลกเป็นการไม่เข้าใครออกใครและขณะเดียวกันก็รู้จัก เอาใจเขามาใส่ใจเราได้เหมือนกันความสมารถวางตนเป็นกลาง และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นนี้ถ้าถือแต่อย่างใดอย่างเดียว จะทำให้เราไม่สามารถมองเห็นสถานการณ์ที่แท้จริงได้ จนเราต้องมีทั้งสองอย่าง จึงจะสามารถเกิดเจตคติในทางผลิตผลขึ้นได้ อันว่าเจตคติในทางผลิตผลนี้ย่อมเกี่ยวกับความรักด้วย ตามปกติธรรมดามนุษย์ผู้ต้องการความเป็นตัวของตัวเองย่อมต้องมีความรักตนเองเสียก่อน
3.บุคลิกภาพประเภทต่างๆ  ฟรอมม์มีปรัชญาว่า  ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงหรือรือบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่โลกตลอดกาล  จนไม่คิดถึงชีวิตชีวา  บุคคลหนึ่งๆบุคคลเดียวกันนั้น  อาจจะเป็นได้ทั้งผู้บำเพ็ญประโยชน์และผู้ไร้ประโยชน์  หากแต่มีความต่างกันอยู่ตรงที่ความหนักเบาของบุคลิกภาพทั้ง 2 ประเภทนี้  เช่น  บางคนชอบการบำเพ็ญประโยชน์เป็นชีวิตจิตใจ  ชีวิตอยู่ด้วยการบำเพ็ญประโยชน์เป็นส่วนใหญ่แต่บางคนอยู่เฉย  อยู่เปล่าๆ  เป็นส่วนมาก  บางครั้งอุปนิสัยบางอย่างของคนเราอาจจะดูไม่ออกว่าอยู่ในลักษณะบำเพ็ญประโยชน์หรือไร้ประโยชน์



อ้างอิง 

พรรณิดา  ผุสดี. แอริค ฟรอมม์.(2555).(ออนไลน์).สืบค้นจาก :  http://www.oknation.net/blog/pannida/2012/11/12/entry-6 (Jan 28, 2016)

7.แนวความคิดตามทฤษฎีบุคลิกภาพ ของ Karen Horney

ทฤษฎีบุคลิกภาพของ คาร์เรน ฮอร์นาย (Karen Horney)



แนวความคิดของ คาร์เรน ฮอร์นาย (Karen Horney) (1885 – 1952) เป็นนักทฤษฎีที่มองปัญหาของมนุษย์อย่างมีความหวังและเชื่อว่ามนุษย์เป็นนายในการจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆในชีวิตของตนมิใช่เป็นทาสของปัญหา ฮอร์นายมีความเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมทางสังคมมีบทบาทต่อการพัฒนาบุคลิกภาพมากกว่าปัจจัยโน้มเอียงภายใน สิ่งแวดล้อมทำให้เกิดความวิตกกังวลขึ้น พื้นฐานของความวิตกกังวลเกิดจากการที่เด็กรู้สึกว่าไม่ได้รับความมั่นคงและปลอดภัยจากผู้เป็นพ่อแม่ เด็กจึงใช้กลไกป้องกันตนเองแบบต่างๆเพื่อลดความวิตกกังวล วิธีใดที่ได้ผลก็จะใช้บ่อยๆ วิธีที่ไม่ได้ผลก็จะเลิกใช้บางคนก็จะหาวิธีการลดความวิตกกังวลลง ไม่ได้ทำให้มีภาพพจน์เกี่ยวกับตนเองผิดไปและสร้างความต้องการต่างๆเพื่อลดความวิตกกังวลที่เรียกว่า ความต้องการทางประสาท (Neurotic Needs)  นักจิตวิเคราะห์ คาร์เรน ฮอร์นาย ได้อธิบายว่ามนุษย์มีความต้องการดังนี้
1.ความต้องการใฝ่สัมพันธ์และการยอมรับยกย่อง ความต้องการที่ไม่แยกแยะ การที่ทำให้ผู้อื่นพอใจและให้เขายอมรับตนเอง (affection and approval)
2.ความต้องการคู่ และต้องการให้มีผู้ที่ดูแลคุ้มครองตนเอง ต้องการความรัก (partner)
3.ความต้องการจำกัดตนเองในวงแคบ ให้มีคนคอยสั่ง (restrict one's life to narrow borders)
4.ความต้องการอำนาจ ที่จะควบคุมผู้อื่น ( need for power, for control over others)
5.ความต้องการมีอิทธิพลเหนือผู้อื่น ( to exploit others and get the better of them)
6.ความต้องการการยอมรับทางสังคม ความภาคภูมิใจ (social recognition or prestige)
7.ความต้องการได้รับการชื่นชมโดยส่วนตัว ต้องการเป็นคนสำคัญ มีค่า (personal admiration)
8.ความต้องการความสำเร็จ ต้องการเป็นที่ 1 (personal achievement.)
9.ความต้องการความเป็นอิสระ (self-sufficiency and independence)
10.ความต้องการความสมบูรณ์สุด (perfection and unassailability)
มนุษย์มีความต้องการแบบนี้ทั้งสิ้น สำหรับคนที่มีสุขภาพจิตดีนั้นจะมีความต้องการน้อยกว่าคนที่มีสุขภาพจิตเสื่อม เพราะคนปกติสามารถแก้ข้อขัดแย้งต่างๆที่เกิดจากความต้องการเหล่านี้ได้ดีกว่า ความต้องการทางประสาทมีการพัฒนามาตั้งแต่เด็กๆ ดังนั้นฮอร์นายจึงเน้นความสำคัญของการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่มีต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์
         เธอเสนอว่ามนุษย์แบ่งออกได้เป็นสามประเภท ตามพื้นฐานของความวิตกกังวลและอาการทางจิตประสาทของมนุษย์ ซึ่งสามารถจัดกลุ่มได้ 3 กลุ่มดังนี้
1.การเข้าหาคน (พวกยอมคน) Compliance ได้แก่ ความต้องการที่ 1 ,2 และ 3
2.การพุ่งเข้าใส่คน (พวกก้าวร้าว) Aggression ได้แก่ ความต้องการที่ 4-8
3.การหลีกหนีคน (พวกใจลอย) Withdrawal ได้แก่ ความต้องการที่ 9,10 และ 3
         ผลงานวิจัยของฮอร์นายพบว่า ไทป์ย่อยในกลุ่มต่าง ๆ เช่น
กลุ่มก้าวร้าว มีคนอยู่สามประเภทคือ

    - คนหลงตัวเอง
    - มนุษย์สมบูรณ์แบบ
    - คนจองหอง

กลุ่มใจลอย แบ่งกลุ่มย่อย คือ

    - กลุ่มบุคลิก ชอบถอนตัว
    - ชอบต่อต้าน

กลุ่มยอมคน แบ่งย่อยออกเป็น 3 กลุ่มย่อยอีกคือ

    - พวกรักสนุก
    - พวกทะยานอยาก
    - พวกปรับตัว



อ้างอิง  :  

การนำหลักจิตวิทยามาอธิบายวรรณกรรม.(ออนไลน์).สืบค้นจาก :  http://memymy.exteen.com/page/2  (Jan 28, 2016)